content
stringlengths 2
11.3k
| url
stringlengths 26
27
| title
stringlengths 3
125
|
---|---|---|
Dopamine เป็นสารสื่อประสาทที่พบได้ในสัตว์เกือบทุกชนิดตั้งแต่แมลงยันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เพื่อที่จะทดสอบผลของ dopamine ต่อพฤติกรรมของแมลงหวี่ Drosophila melanogaster นักวิทยาศาสตร์ได้ตัดต่อทำให้ยีนที่สร้างเอนไซม์ tyrosine hydroxylase ในเซลล์ประสาทของแมลงหวี่ทำงานไม่ได้ ที่ต้องทำให้ยีนเฉพาะที่เซลล์ประสาททำงานไม่ได้มีเหตุผลเพราะว่ายืนนี้มีความสำคัญต่อกระบวนการแข็งตัวของ cuticles (ผิวแข็งๆ ที่คลุมร่างกายของแมลง) ด้วย หากตัดมันทิ้งไปเลย แมลงหวี่จะตาย
จากการตรวจสอบแมลงหวี่ที่ถูกตัดต่อยีน พบว่ามี dopamine อยู่ในระบบประสาทของแมลงอยู่เพียง 0.2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับแมลงหวี่ปกติ นักวิจัยเชื่อว่าเกิดจากการปนเปื้อนของสารที่มีรูปร่างโมเลกุลใกล้เคียงกันมากกว่า ทำให้อ่านค่าคลาดเคลื่อน ดังนั้นเราก็เชื่อๆ ตามพวกเขาไปแล้วกัน
จากการสังเกตนักวิทยาศาสตร์พบว่าแมลงหวี่ที่ขาด dopamine มีพฤติกรรมเฉื่อยชา แม้จะถูกกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ ก็ยังไม่ค่อยจะขยับเขยื้อน ตอนกลางวันก็ชอบนอนอยู่นิ่งๆ แทนที่จะบินร่อนไปร่อนมาเหมือนแมลงหวี่ปกติ ไม่เคลื่อนที่เข้าหาแสงด้วยแม้จะประสาทสัมผัสจะรับรู้แสงได้ก็ตาม นอกจากนี้ยังกินอาหารน้อยกว่าแมลงหวี่ปกติถึงสามเท่า
ที่แปลกประหลาดที่สุดคือ เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองพฤติกรรมการเรียนรู้เงื่อนไขโดยการปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปพร้อมกับกลิ่นชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามปกติแมลงหวี่จะจำได้และพยายามบินหนีเมื่อได้รับกลิ่นนั้นอีกครั้ง แต่เจ้าพวกแมลงหวี่ที่ไม่มี dopamine กลับทำตัวเป็นพวกชอบความเจ็บปวด (masochist*) เมื่อได้กลิ่นแทนที่จะบินหนี กลับบินเข้าหาให้โดนไฟฟ้าช็อตเล่นซะอย่างนั้น
นักวิทยาศาสตร์พบว่าเมื่อให้อาหารที่มี dopamine ผสมอยู่จะสามารถช่วยทำให้แมลงหวี่มาโซคิสต์พวกนี้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ระดับหนึ่ง หรือถ้าให้คาเฟอีนก็จะกระตุ้นให้มันเฉื่อยชาน้อยลงกว่าเดิมได้ชั่วคราว ทำให้สันนิษฐานได้ว่าระบบประสาทส่วนใหญ่ของมันยังปกติดี เพียงแต่ขาดตัวกระตุ้นอะไรบางอย่างให้ทำงานได้เหมือนแมลงหวี่ปกติ
ในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม dopamine เป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกสบาย (ความรู้สึกสบายๆ นี้เป็นตัวการอย่างหนึ่งที่ทำให้เราติดบุหรี่) มีส่วนในพฤติกรรมทางสังคมหลายอย่าง เช่น การผสมพันธุ์และการครองคู่ เป็นต้น ดังนั้นแมลงหวี่มาโซคิสต์พวกนี้อาจจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับอิทธิพลของ dopamine ต่อชีวิตเราก็ได้
อ๊ะ... แต่ผมไม่ได้กำลังจะบอกนะว่าพวก SM เป็นพวกขาด dopamine ;P
ที่มา Ars Technica
*หมายเหตุ หลายคนชอบใช้คำว่า ซาดิสม์ ในความหมายที่แปลว่าชอบทรมานให้ตัวเองเจ็บปวด จริงๆ แล้ว คำว่า "sadism" หมายถึงพวกที่ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นเจ็บปวด "masochism" ต่างหากที่แปลว่าชอบให้ตัวเองเจ็บปวด เรียกรวมกันว่า "Sadomasochism"
ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มความเข้าใจผิดแบบนี้ นอกจากคำ "ซาดิสม์" ยังมีอีกหลายคำ ผมอยากเขียนรวมเป็นบทความเกี่ยวกับการใช้คำวิทยาศาสตร์แปลกๆ แบบนี้ให้ได้สักวัน แต่ตอนนี้นึกออกแค่สองสามคำเอง :( | https://jusci.net/node/1472 | การขาด dopamine ทำให้แมลงหวี่กลายเป็นพวกชอบทรมานตัวเอง |
ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่นำโดย Ming Xu แห่ง National Institute of Advanced Industrial Science and Technology ของประเทศญี่ปุ่น ได้เอาคาร์บอนนาโนทิวบ์ (carbon nanotube) มาสร้างเป็นยางแบบใหม่ที่ยังคงสภาพเด้งดึ๋งได้ แม้ว่าจะถูกเผาหรือแช่แข็งในไนโตรเจนเหลวก็ตาม
ยางแบบใหม่นี้ประกอบด้วยโครงข่ายของคาร์บอนนาโนทิวบ์ที่มีผนังชั้นเดียว, สองชั้น, และสามชั้นเรียงสลับกันแบบสุ่มๆ ท่อคาร์บอนนาโนทิวบ์แต่ละอันจะเชื่อมต่อกับท่อคาร์บอนนาโนทิวบ์อันอื่นมากมายทำให้มันมีความยืดหยุ่นสูงมากและทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิได้อย่างเหลือเชื่อ นักวิจัยทดลองเอามันไปเผาที่อุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส มันก็ยังเด้งๆ ดึ๋งๆ อยู่ (ที่อุณหภูมิขนาดนี้อะลูมิเนียมยังละลาย) และเมื่อเอามันไปแช่แข็งที่อุณหภูมิเกือบ -200 องศาเซลเซียส มันก็ยังไม่เป็นไร (ถ้าเป็นหนังยางธรรมดาคงกรอบแตกเป็นผงไปนานแล้ว)
คุณสมบัติที่เด่นอีกอย่างคือยางคาร์บอนนาโนทิวบ์นี้นำไฟฟ้าได้ด้วย
งานนี้แวดวงอุตสาหกรรมตั้งแต่รองเท้ายันยานอวกาศจ้องกันตาลุกวาวเลย เอาแค่ที่มันทนอุณหภูมิได้ โครงการยานอวกาศต่างๆ ก็แทบกรี๊ดกร๊าดกันจะตายอยู่แล้ว ยิ่งมันนำไฟฟ้าได้อีก ยิ่ง "ว้าว" กันเข้าไปใหญ่ ลองคิดดูเล่นๆ ถ้าเอามันไปใส่ในรองเท้าหรือตัวรับแรงกระแทกรถยนต์ ให้มันเก็บกระแสไฟฟ้าไว้ชาร์จ iPod/iPhone โฉมหน้าตลาดสินค้าพวกนี้จะเปลี่ยนไปขนาดไหน
ที่มา - Discovery News, Popular Science | https://jusci.net/node/1473 | ยางคาร์บอนนาโนสุดอึด |
เครื่องบินแบบไร้มนุษย์เป็นอีกทางเหลือหนึ่งที่อาจจะมาแทนที่ดาวเทียมที่มีความเสี่ยงสูงและบำรุงรักษายาก แต่ข้อจำกัดสำคัญคือระยะเวลาทำการที่เครื่องบินไม่สามารถบินวนได้นานนัก แต่เครื่อง Zephyr ก็ทำสถิติบินต่อเนื่องใหม่เป็นเวลา 336 ชั่วโมง 22 นาที 8 วินาที หรือเกือบสองสัปดาห์เต็ม
เครื่องบิน Zephyr สร้างโดยบริษัทอาวุธ QinetiQ มันบินสูงถึง 21.562 กิโลเมตร (สถิติโลกสำหรับเครื่องน้ำหนักช่วงเดียวกัน) ความกว้างปลายปีก 22.5 เมตร น้ำหนักรวมประมาณ 50 กิโลกรัม และใช้แบตเตอรี่แบบลิเธียมซัลเฟอร์
เครื่องบินแบบนี้อาจใช้ทางการทหารเพื่อลาดตระเวณและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลานานหรืออาจจะทำหน้าที่เป็นโครงข่ายสื่อสารให้กับทหารบนพื้นดิน ข้อดีสำคัญคือเราสามารถกำหนดให้มันบินวนในพื้นที่เดิมตลอดเวลาได้ ขณะที่ดาวเทียมนั้นจะทำได้ต่อเมื่อเป็นวงโคจรค้างฟ้าที่วงโคจรสูงและค่านำส่งแพง ส่วนดาวเทียมวงโคจรต่ำก็มักมีรอบโคจรที่เร็วกว่าการหมุนของโลกหลายเท่าตัว ทำให้ต้องรอหลายชั่วโมงเพื่อให้มันผ่านพื้นที่ที่ต้องการบริการ
ที่มา - BBC | https://jusci.net/node/1474 | เครื่องบินไร้มนุษย์พลังแสงอาทิตย์ทำสถิติบินต่อเนื่องสองสัปดาห์ |
เมืองปารีสกำลังเตรียมร่างกฏหมายเพื่อห้ามไม่ให้รถที่ปล่อยปริมาณคาร์บอนต่อกิโลเมตรที่เดินทางสูงเกินไปเข้าเมือง โดยเฉพาะรถ SUV (sport utility vehicle) ที่มีขนาดใหญ่
กฏหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรึกษาถึงตัวเลขวันบังคับใช้, ปริมาณคาร์บอนที่ควรกำหนด, และบทลงโทษที่เหมาะสม โดยหากปารีสบังคับใช้สำเร็จ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเมืองอื่นๆ ของฝรั่งเศสจะบังคับใช้กฏแบบเดียวกัน รวมถีงประเทศอื่นเช่นอังกฤษ และเยอรมันด้วย
ที่มา - freep.com | https://jusci.net/node/1475 | ปารีสเตรียมทดลองกฎหมายห้ามรถมลพิษสูงเข้าเมือง |
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตาได้ค้นพบซากฟอสซิลของสัตว์ในสกุล Varanus อายุ 33 ล้านปีในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดของสัตว์ในสกุล Varanus เท่าที่เคยค้นพบกันมา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสัตว์ที่เป็นเจ้าของซากฟอสซิลนี้มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร และน่าจะว่ายน้ำได้เหมือน Varanus spp. ทั้งหลายในยุคปัจจุบันด้วย เพราะว่าซากนี้ถูกเจอในบริเวณที่เคยเป็นแม่น้ำมาก่อน
หลักฐานชิ้นนี้สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าสัตว์ในสกุล Varanus (ตัวอย่าง Varanus ในปัจจุบัน ได้แก่ เหี้ย ตะกวด มังกรโคโมโด ฯลฯ) มีวิวัฒนาการเริ่มต้นในทวีปแอฟริกา จากนั้นมันจึงค่อยๆ ทยอยอพยพเข้ามาในเขตทวีปเอเซียและออสเตรเลีย ทฤษฎีนี้ขัดกับความเชื่อแพร่หลายที่ว่า Varanus วิวัฒนาการในเขตทวีปเอเซียและออสเตรเลียก่อนแล้วจึงกระจายตัวไปยังทวีปแอฟริกา
ปัญหาของทฤษฎี "มาจากแอฟริกา" (out-of-Africa) นี้มันอยู่ตรงที่ ในช่วง 100 ล้านปี ถึง 12 ล้านปีที่แล้ว แผ่นดินทวีปแอฟริกาลยังอยู่เดี่ยวๆ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร ไม่ได้ติดต่อกับแผ่นดินทวีปเอเซีย แล้วพวก Varanus ก็ไม่ได้ว่ายน้ำแข็งพอที่จะลอยคอข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยตัวเองได้ แต่มีหลักฐานอื่นๆ ยืนยันว่าพวกมันได้เข้ามาอยู่ในเขตทวีปเอเซียและออสเตรเลียตั้งแต่ในช่วงนั้นแล้ว ดังนั้นสมมติฐานที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าเป็นไปได้ที่สุดคือ ในเวลานั้นมีแผ่นดินเล็กๆ เคลื่อนแยกออกมาจากแผ่นดินทวีปแอฟริกา เกาะเล็กๆ เหล่านี้เป็นเหมือนสะพานให้สัตว์ในแผ่นดินแอฟริกาอพยพข้ามมายังเขตทวีปเอเซียและออสเตรเลียได้
ที่มา - Science Daily
ในประเทศไทยมีสัตว์ในสกุล Varanus อยู่ 4 ชนิด คือ เหี้ย (Varanus salvator) ตะกวด หรือแลน (Varanus bengalensis) เห่าช้าง (Varanus rudicollis) และตุ๊ดตู่ (Varanus dumerilii)
ส่วนสัตว์ในวงศ์ Varanidae ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้คือ มังกรโคโมโด (Varanus komodoensis) ตัวยาว 2-3 เมตร หนัก 70 กิโลกรัม นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่ามังกรโคโมโดมีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับเจ้ายักษ์ Varanus priscus แชมป์เก่าแห่งออสเตรเลียที่มีความยาวลำตัวได้ถึง 5 เมตร ต่อมามังกรโคโมโดจึงกระจายตัวมาอาศัยในหมู่เกาะประเทศอินโดนีเซีย ส่วน Varanus priscus สูญพันธุ์ไปตั้งแต่เมื่อ 40,000 ปีที่แล้ว | https://jusci.net/node/1476 | บรรพบุรุษตัวเหี้ยอาจมาจากแอฟริกา |
นักพฤกษศาสตร์จากสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาจับมือกันสร้างฐานข้อมูลของรายชื่อพืชขนาดใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ในชื่อ The Plant List (http://www.theplantlist.org/)
The Plant List เป็นโครงการของ Kew Gardens แห่ง Royal Botanic Gardens ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และ Missouri Botanical Garden ในเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา รายชื่อพืชทั้งหมดจะแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ตามหลักอนุกรมวิธานพืช (The Plant List ใช้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่มีชื่อสามัญ) สำหรับแต่ละชื่อก็จะมีลิงค์ไปยังข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องให้
ในเวอร์ชัน 1.0 นี้ ฐานข้อมูลของ The Plant List มีรายชื่อพืชทั้งหมด 1,244,871 ชื่อ ในจำนวนนี้มีชื่อสปีชีส์ 1,040,426 ชื่อรวมกับชื่อที่เป็น infraspecific names (หมายถึงชื่อที่ต่ำกว่าระดับสปีชีส์ลงไป เช่น subspecies หรือ variety) อีก 204,445 ชื่อ รายละเอียดเกี่ยวกับสถิติทั้งหมดอ่านได้ที่ http://www.theplantlist.org/statistics/
แต่ก็ไม่ใช่ว่าฐานข้อมูลนี้จะสมบูรณ์แบบ 100% เต็ม ยังมีชื่อของพืชอีกมากมายที่ยังต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีก ตอนนี้มีกว่า 260,000 รายชื่อที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าถูกต้องตามหลักอนุกรมวิธานหรือไม่ แม้แต่ในหน้าเว็บของ The Plant List เองยังใช้คำว่า "The Plant List: A working list of all plant species" เลย ตามกำหนดการที่มติที่ประชุม UN Biodiversity Convention ขององค์การสหประชาชาติ ณ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ได้วางไว้เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฐานข้อมูลนี้จะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2020
ชื่อพวกนี้จะช่วยให้การวิจัยและการอนุรักษ์พันธุ์พืชมีประสิทธิภาพมากขึ้น ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เวลาจะศึกษาหรือทำอะไรกับสิ่งมีชีวิต ถ้าเป็นไปได้ผมอยากจะให้ทำฐานข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งโลกไปเลย ไชโยๆ (พูดไปงั้นแหละ ทำไม่ได้หรอก แค่รายชื่อแมลงก็อ้วกแล้ว)
ที่มา - Discovery News
อันนี้เก็บไว้รู้เล่นๆ พืชที่ชื่อยาวที่สุดใน The Plant List คือ Ornithogalum adseptentrionesvergentulum อยากรู้มันคือต้นอะไร ค้น Google เอาเอง | https://jusci.net/node/1477 | เปิดตัว The Plant List ฐานข้อมูลรายชื่อพืชทุกชนิดบนโลกนี้ |
MV เพลง, หนังสือ, พวกศิลปินอกหัก มักจะพูดเสมอๆ ว่าผู้ชายกับผู้หญิงมีความรักไม่เหมือนกัน "ผู้หญิงนับจากหนึ่งถีงร้อย ผู้ชายนับจากร้อยถึงติดลบ" บ้างหละ "ผู้ชายมาจากดาวอังคาร ผู้หญิงมาจากดาวศุกร์" บ้างหละ แต่หลักฐานล่าสุดที่นักวิทยาศาสตร์มีในตอนนี้สรุปได้ว่าสมองทั้งของผู้ชาย ผู้หญิง เกย์ กระเทย ทอม-ดี้ เลสเบี้ยน ตอบสนองต่อความรักเหมือนกันหมด
การทดลองนำโดย ศ. Semir Zeki และ John Romaya แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้ทำการตรวจวัดสมองของคนที่กำลังมีความรัก 24 คนด้วยเทคนิค functional magnetic resonance imaging (fMRI) คนที่เข้าร่วมการทดลองนี้ประกอบด้วยชายจริงและชายไม่จริงอย่างละ 6 คน กับ หญิงแท้และหญิงไม่แท้อย่างละ 6 คน เช่นกัน ทั้งหมดมีอายุอยู่ในช่วง 19-47 ปี นักวิจัยจะเอาภาพของคู่รักและภาพของเพื่อนให้แต่ละคนดูเพื่อเปรียบเทียบการทำงานของสมองในขณะนั้น
ผลการทดลองปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างทุกคนไม่ว่าจะเพศอะไรมีการตอบสนองในสมองแทบจะเหมือนๆ กันหมดเมื่อได้เห็นภาพคู่รักของตนเอง สมองส่วนที่ถูกกระตุ้นให้ทำงานขึ้นมา ได้แก่ hypothalamus, ventral tegmental area, caudate nucleus, putamen, insula, hippocampus, และ anterior cingulate cortex ซึ่งเป็นส่วนที่มีการทำงานของ dopamine สูงด้วยกันทั้งนั้น (dopamine เป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้เรามีอารมณ์ดี รู้สึกสบายตัวสบายใจ) และการทำงานของ dopamine ก็ยังไปเกี่ยวพันสารสื่อประสาทตัวอื่นด้วย เช่น oxytocin (ฮอร์โมนแห่งความรัก) และ serotonin (ฮอร์โมนแห่งความสุข)
อย่างไรก็ตาม นักแต่งเพลง, คนเขียนบทละครไม่ต้องกลัวว่าจะหมดมุขทำมาหากิน แม้ว่าคำกล่าว "ผู้ชายผู้หญิงรักไม่เหมือนกัน" จะไม่สมจริงอีกต่อไปแล้ว แต่อีกประโยคที่บอกว่า "ความรักทำให้คนตาบอด" อาจจะเป็นจริงก็ได้ เพราะนักวิจัยยังพบอีกว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างเห็นรูปคู่รัก สมองส่วน cerebral cortex บางส่วนได้ถูกปิดการทำงานไปด้วย ซึ่งส่วนที่ถูกปิดไปเป็นส่วนที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับการตัดสินเรื่องต่างๆ เช่น จะตัดสินว่ารถตู้ผิดหรือซีวิคผิดก็ต้องอาศัยสมองส่วนที่ว่านี้เป็นสำคัญ
ไหนๆ ก็รู้แล้วว่าความรักเป็นสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันหมด ไม่ขึ้นกับเพศ ต่อไปไม่แน่เราอาจจะมีสมการความรักไว้ใช้อธิบายความรักก็ได้
ที่มา - The Telegraph | https://jusci.net/node/1478 | ไหนใครบอกว่าผู้ชายผู้หญิงรักไม่เหมือนกัน? |
แมงป่องทะเล (Sea scorpion) เป็นสัตว์ขาปล้อง (Arthropod) ในอันดับ Eurypterida ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 470 ล้านปี ถึง 370 ล้านปีที่แล้ว ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว ลักษณะทั่วไปของมันก็ตามชื่อเลย คือ มีก้ามหน้าเป็นคีมใหญ่ๆ สองอัน และมีหางยื่นออกไปยาวๆ เหมือนแมงป่อง ปลายหางอาจเป็นหนามแหลมหรือแผ่นแบนก็ได้ แมงป่องทะเลบางชนิด เช่น ในวงศ์ Pterygotidae อาจมีความยาวสูงสุดได้ถึง 2.5 เมตร ตัวอย่างได้แก่เจ้าของฟอสซิลก้ามที่ถูกขุดพบในปี 2007 ถือว่าเป็นสัตว์ขาปล้องที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีชีวิตบนโลกนี้
ลองนึกถึงสัตว์ประหลาดยาวสองเมตรครึ่ง (ความยาวประมาณมังกรโคโมโด) ทั้งตัวคลุมด้วยเกราะ มีก้ามหนามๆ ตาโตโปนทะลัก แค่คิดก็สยิว เอ๊ย สยองแล้ว นักวิทยาศาสตร์บางคนถึงกับตั้งฉายาให้กับแมงป่องทะเลยักษ์พวกนี้ว่า T. rex แห่งโลกของสัตว์ไร้กระดูกสันหลัง
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ศึกษามันจริงจังก็ดูเหมือนว่าเจ้าแมงป่องทะเลยักษ์พวกนี้จะไม่ได้โหดเหี้ยมอย่างที่คิด นักวิทยาศาสตร์สามท่าน คือ Richard Laub แห่ง Buffalo Museum of Science, Victor Tollerton แห่ง New York State Museum, และ Richard Berkof แห่ง Stevens Institute of Technology เอาก้ามของ Acutiramus (หนึ่งในแมงป่องทะเลวงศ์ Pterydotidae ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ) มาวิเคราะห์ พบว่าก้ามเบิ้มๆ ของ Acutiramus สามารถออกแรงบีบหรือแรงงัดได้สูงสุดเพียง 5 นิวตันเท่านั้น ถ้าใช้แรงมากกว่านี้ก้ามจะหักทันที แรงขนาดนี้เจาะแงะเปลือกแมงดาทะเลยังไม่ได้เลย (ต้องประมาณ 8-17 นิวตันจึงจะเจาะได้) หรือถ้าเอาไปเปรียบกับกรามล่างของ T. rex ซึ่งมีแรงยกถึง 200,000 นิวตัน ก้ามแรง 5 นิวตันของ Acutiramus คงทำได้แค่แคะขี้ฟัน T. rex (จะหักหรือเปล่าก็ยังไม่แน่)
นอกจากจะเปราะบางแล้ว ก้ามของ Acutiramus ยังขาด "ข้อต่อหัวไหล่" (elbow joint) อีกด้วย ฉะนั้นเรื่องจะให้มันพุ่งก้ามไล่จับปลากินคงไม่มีทาง นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันคงจะใช้ก้ามจับพวกสัตว์ตัวนิ่มๆ ที่คลืบคลานอยู่ตามพื้นทะเลกินมากกว่า หนามแหลมที่เรียงกันเป็นฟันเลื่อยที่ก้ามก็คงไว้ใช้ช่วยในการฉีกเนื้อนุ่มๆ ให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ สรุปคือก้ามที่เห็นใหญ่โตของ Acutiramus ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากป้อนอาหารเข้าปาก ที่มีไว้ใหญ่ๆ ยาวๆ ก็เพื่อช่วยให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ จะได้ไม่ต้องขยับตัวมากเท่านั้นเอง (เอ๊ะ นี่เราพูดถึงก้ามของ Acutiramus อยู่ใช่ไหม :P )
ภาพด้านบนคือ Acutiramus กำลังกินเหยื่อ ด้านล่างคือก้ามหน้าของมัน
ภาพจาก Science Daily เครดิต: William L. Parsons / Buffalo Museum of Science
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่าแมงป่องทะเลในวงศ์ Pterygotidae ทุกตัวจะเป็นยักษ์ใจดีเหมือนกับ Acutiramus หรือไม่ เรื่องนี้ยังต้องรอการพิสูจน์ต่อไป
ที่มา - Science Daily, Live Science | https://jusci.net/node/1479 | แมงป่องทะเลตัวยาว 2.5 เมตรอาจไม่ใช่สัตว์ดุร้าย |
อวัยวะที่เกี่ยวพันกับการมีเพื่อนเยอะ-เพื่อนน้อยในข่าวนี้คือ สมองส่วนที่เรียกว่า Amygdala เป็นก้อนสมองส่วนเล็กๆ มีรูปทรงคล้ายกับเม็ดอัลมอนด์ Amygdala มีความสัมพันธ์กับการแปลความหมายอารมณ์จากสีหน้า, การตอบสนองต่อสิ่งคุกคาม, และการไว้วางใจผู้อื่น ก่อนหน้านี้ก็เคยมีหลักฐานชี้ให้เห็นว่าขนาดของ Amygdala มีความสัมพันธ์กับขนาดกลุ่มของพวกไพรเมต (primates - สัตว์จำพวกลิง ค่าง)
แต่การวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Lisa Feldman Barrett แห่ง Northeastern University ในบอสตัน ได้แสดงให้เห็นว่า ขนาดของ Amygdala ก็สัมพันธ์กับขนาดสังคมในคนด้วย
นักวิจัยได้วัดขนาดของ Amygdala ในกลุ่มตัวอย่างผู้ใหญ่ 58 คน ด้วยเทคนิค MRI (magnetic resonance imaging) และให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสอบถามว่ามีเพื่อนกี่คน (นับเฉพาะที่ยังติดต่อคบหากันอยู่) และเข้าร่วมกลุ่มหรือชมรมอะไรบ้าง
เมื่อนำผลไปวิเคราะห์ ปรากฏว่าคนที่มีเครือข่ายทางสังคมใหญ่กว่า (มีเพื่อนมาก, เข้าร่วมกลุ่มต่างๆ มาก) มีปริมาตรของสมองส่วน Amygdala ใหญ่กว่าคนที่มีเครือข่ายสังคมเล็ก ความสัมพันธ์นี้ไม่ขึ้นกับอายุและความรู้สึกพอใจในสภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างด้วย
คำถามต่อไปของผลความสัมพันธ์เช่นนี้คือ "เพราะ Amygdala ใหญ่ทำให้มีเพื่อนเยอะ" หรือ เพราะว่ามีเพื่อนเยอะ เลยทำให้ใหญ่" กันแน่? เรื่องนี้ยังคงเป็นสิ่งลึกลับที่นักวิทยาศาสตร์ต้องหาคำตอบกันต่อไป
ที่มา - Nature News | https://jusci.net/node/1480 | ใหญ่แล้วเพื่อนเยอะ-เพื่อนเยอะแล้วใหญ่ |
มีหลายทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (mass extinction หรือ biota crisis) ที่เกิดขึ้นบนโลก บ้างก็บอกว่าอุกกาบาตชนโลก บ้างก็บอกว่าภูเขาไฟระเบิด บางคนก็โทษแก๊สโซฮฮลไปเลย ง่ายดี
แต่จากการศึกษาฟอสซิลของ Leptodesma (หอยสองฝา), Floweria และ Schizophoria (Brachipods), Archaeostraca (ครัสเตเซียน) โดย Alycia Stigall แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ กลับพบว่าอัตราการสูญพันธุ์ในช่วงปลายยุค Devonian (378 ถึง 375 ล้านปีที่แล้ว) นั้นไม่ได้สูงไปกว่าอัตราการสูญพันธุ์ที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ (Background extinction rate) เลย พวกสัตว์ที่อยู่ในการศึกษานี้ครั้งหนึ่งเคยครอบครองแนวปะการังในมหาสมุทร ดังนั้นพวกมันจึงเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทรในยุค Devonian ได้อย่างดี
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ อัตราการเกิดสปีชีส์ใหม่กลับลดลงแบบฮวบฮาบ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าสิ่งนี้แหละคือเหตุผลที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ปลายยุค Devonian"
Alycia Stigall เสนอสมมติฐานว่า เบื้องหลังที่ทำให้อัตราการเกิดสปีชีส์ใหม่ลดลงก็คือ การรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Invasive species = "ต่างถิ่น" นะ ไม่ใช่ "ต่างดาว") เนื่องจากในช่วงปลายยุค Devonian ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเปลือกโลกบางแผ่นก็เคลื่อนที่เข้ามาใกล้กันมากพอที่จะให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดอพยพเข้าไปยังที่อยู่อาศัยใหม่ สิ่งมีชีวิตที่เข้าไปใหม่ก็ไปรบกวนกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเจ้าถิ่นเดิม ในที่สุดระบบนิเวศนั้นๆ ก็อาจจะถึงขั้นพังทลายลงได้
ปัจจุบันระบบนิเวศหลายแห่งบนโลกเราก็กำลังเผชิญกับปัญหาการรุกรานของสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Invasive species) ไม่แน่ว่าการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งในยุคของเราด้วยฝีมือของมนุษย์อย่างเราเอง
ที่มา - PhysOrg
ป.ล. ยุค Devonian บางทีก็เรียกกันเล่นๆ ว่า "ยุคของปลา" สัตว์บกที่มีกระดูกสันหลังและแมลงตัวแรกก็น่าจะเกิดยุคนี้ | https://jusci.net/node/1481 | ไม่ใช่อุกกาบาต ไม่ใช่ภูเขาไฟ!? การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ปลายยุค Devonian อาจเป็นเพราะสปีชีส์ใหม่เกิดไม่ทัน |
ใครสามารถทำนาย DNA จากใบหน้านี่ผมไม่รู้ แต่ว่าด้วยการวิจัยล่าสุด นักนิติวิทยาศาสตร์สามารถจะทำนายสีผมจากข้อมูลที่อยู่บน DNA ได้แล้ว
ศ. Manfred Kayser แห่ง Erasmus Medical Centre ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้นำทีมวิจัยค้นหาวิธีในการทำนายสีเส้นผมจาก DNA โดยใช้ "DNA Markers" 13 ตำแหน่งจากยีน 11 ตัว การทำนายสีผมจาก DNA นี้แม่นยำมากถึงกว่า 90% สำหรับคนที่มีผมสีดำและสีแดง ถ้าเป็นคนผมสีบลอนด์หรือสีน้ำตาล ความแม่นยำจะลดลงมาหน่อย แต่ก็ยังสูงถึงกว่า 80% นอกจากนี้ข้อมูลจาก DNA ยังแยกแยะสีผมที่ใกล้เคียงกัน เช่น ผมสีบลอนด์กับผมสีบลอนด์แดง หรือ ผมสีน้ำตาลเข้มกับผมสีดำ ฯลฯ ออกจากกันได้ด้วย
ด้วยเทคนิคใหม่นี้ ตำรวจจะสามารถบอกสีผมคนร้ายได้จากหลักฐานเนื้อเยื่อที่คนร้ายทิ้งไว้ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับประเทศโลกตะวันตกที่ประชากรมีสีผมหลากหลาย แต่สำหรับคดีในประเทศไทยคงไม่จำเป็นมากนัก เพราะสีผมคนไทยก็ดำเหมือนๆ กันหมด
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1482 | นักนิติวิทยาศาสตร์ทำนายสีผมจาก DNA ได้แล้ว |
ไม่ใช่แค่คนเท่าที่แกล้งป่วยการเมืองเวลาขี้เกียจหรือไม่พอใจได้ แมวเองก็แสดงอาการแบบนั้นเหมือนกัน เวลาที่เราไปยุ่งย่ามหรือเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่มันคุ้นเคย ซึ่งอาการที่แมวแสดงเวลาป่วยการเมืองคือไม่กินอาหาร และอาเจียนบ่อยกว่าปกติ
ศ.Tony Buffington ประจำสาขาวิชาคลินิกศาสตร์ทางสัตว์ (Veterinary Clinical Sciences) แห่งมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของแมวโดยแบ่งแมวออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือแมวที่สุขภาพดี ส่วนอีกกลุ่มเป็นแมวที่ป่วยด้วยอาการ feline interstitial cystitis (IC) ซึ่งตามที่ผมเข้าใจน่าจะหมายถึงอาการคล้ายๆกระเพาะปัสสาวะอักเสบของคน
โดยแมวในกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่มแสดงอาการป่วยในลักษณะเดียวกัน เวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่มันคุ้นเคย และอาการป่วยจะพบมากกว่าปกติถึง 3 เท่าหากสภาพแวดล้อมหรือตารางเวลาต่างๆ ของมันถูกรบกวนหรือเปลี่ยนแปลงไปมากๆ
เดิมทีงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาเกี่ยวกับอาการป่วยของแมวเป็นพิเศษ แต่เกิดจากการที่ Judi Stella นักศึกษาปริญญาเอกของทางมหาวิทยาลัย ต้องดูแลแมว 20 ตัวที่ป่วยด้วยอาการ IC หลังจากที่ Stella ได้จัดระบบและตารางเวลาในการดูแลแมวทั้ง 20 ตัวทั้งเวลาอาหาร เวลาเล่น และเวลาทำความสะอาดต่างๆ เธอได้พบว่าแมวที่ดูแลอยู่นั้นมีอาการดีขึ้น และพบว่าการจัดการตารางเวลาให้เป็นระบบจนแมวคุ้นเคยสามารถลดอาการ IC ได้ถึง 75-80%
ที่มา - LiveScience | https://jusci.net/node/1483 | แมวก็แกล้งป่วยได้เวลาอารมณ์บ่จอย |
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) กำลังเตรียมประกาศให้ปี 2011 เป็น "ปีแห่งป่าสากล" (International Year of Forests) เพื่อกระตุ้นให้คนทั้งโลกให้ความสนใจกับการอนุรักษ์, จัดการ, และร่วมกันพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าไม้อย่างยั่งยืน การประกาศอย่างเป็นทางการจะตามมาอีกครั้งในวันที่ 24 มกราคม 2011 ในการประชุม UN ณ กรุงนิวยอร์ค
สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติที่รู้จักกันในชื่อ International Union for Conservation of Nature หรือ IUCN ตั้งเป้าไว้ว่าปื 2011 นี้จะสนับสนุนให้มีการวิจัยและการฟื้นคืนสภาพป่าทั่วโลก ต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ REDD (Reducing Emissions from Deforestation and forest Degradation) ที่ได้ดำเนินงานมาตลอดปี 2010
การรณรงค์ของ UN ในปีนี้เป็นความพยายามต่อเนื่องที่จะให้ผู้คนทั้งที่อยู่ในแวดวงและบุคคลภายนอกทั่วไปตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ปีที่แล้ว (ค.ศ. 2010) คือ ปีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล (International Year of Biodiversity) ส่วนทศวรรษ 2011-2020 ทั้งทศวรรษนี้ UN ประกาศให้เป็น "ทศวรรษแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ" (Decade of Biodiversity)
ที่มา - Live Science
ภาพโลโก้ของ "ปีแห่งป่าสากล 2011" สามารถดาวน์โหลดได้จาก เว็บไซต์ของ UN | https://jusci.net/node/1484 | UN ประกาศให้ปี 2011 เป็น "ปีแห่งป่าสากล" |
Kathryn Aurora Gray เด็กหญิงอายุ 10 ปีจากเมือง Fredericton ประเทศแคนาดา ได้ขึ้นข่าวหน้าหนึ่งประจำวันนี้ในฐานะของ "ผู้มีอายุน้อยที่สุดที่ค้นพบซูเปอร์โนวา"
ซูเปอร์โนวาที่เด็กหญิง Kathryn Gray ค้นพบได้ชื่อหมายเลขว่า "Supernova 2010lt" นักดาราศาสตร์ประเมินว่าซูเปอร์โนวานี้อยู่ห่างจากโลก 240 ล้านปีแสงในกาแล็กซี UGC 3378 สามารถมองเห็นได้อยู่ในหมู่ดาว Camelopardalis (หมู่ดาวรูปยีราฟ)
การค้นพบของ Kathryn Gray ส่วนหนึ่งมาจากความสนใจของเธอเอง ส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุนของครอบครัวโดยเฉพาะ Paul Gray ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นคนสอนให้เธอดูรูปถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์และเป็นคนนำภาพจากหอดูดาวมาให้ลูกสาวช่วยกันหาซูเปอร์โนวาในช่วงวันหยุดปีใหม่ ตัว Paul Gray เองก็เป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นด้วย
Kathryn Gray ค้นพบ Supernova 2010lt ในวันอาทิตย์ที่ 2 มกราคม 2011 เธอเป็นคนชี้จุดสว่างในภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งไม่มีในภาพที่ถ่ายก่อนหน้า การค้นพบของเธอได้รับการตรวจสอบโดยพ่อของเธอเองและ David Lane นักดาราศาสตร์อีกคนก่อน จากนั้นจึงได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการโดย Royal Astronomical Society of Canada
ซูเปอร์โนวาเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของดาวฤกษ์ขนาดยักษ์ที่ถึงคราวสิ้นอายุขัย ซูเปอร์โนวาจะปรากฏในรูปถ่ายเป็นลักษณะของจุดสว่างขนาดใหญ่และเศษฝุ่นอวกาศที่กระจายเป็นวงกว้าง ก่อนจะค่อยๆ จางหายไป
ที่มา - Popular Science, BBC News
Kathryn Aurora Gray เด็ก 10 ขวบ ผู้ค้นพบ Supernova ภาพจาก BBC News
ภาพ Supernova 2010lt ภาพจาก Popular Science เครดิตภาพ Abbey Ridge Observatory
ป.ล. พื้นที่โฆษณาแฝง
ช่างเป็นข่าวที่เข้ากับวันเด็กของประเทศไทยจริงๆ ใครเป็นพ่อแม่หรือยังเป็นเด็กอยู่ (ไม่นับพวกที่อยากเป็นเด็กหรือรักเด็ก) และยังนึกไม่ออกว่าวันเด็กปีนี้จะไปที่ไหนดี ในวันที่ 6-8 มกราคม พ.ศ. 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" มีกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ ที่น่าสนใจมากมาย และในวันที่ 8 มกราคม คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) มหาวิทยาลัยมหิดล ก็จะเข้าร่วมโดยเปิดพื้นที่คณะฯ ให้เด็กเข้ามาสนุกกับกิจกรรมนิทรรศการได้เต็มที่ ของแจกเพียบ ความรู้ตรึม
(ผมไม่ได้ค่าโฆษณางานนี้นะ แค่อยากบอก) | https://jusci.net/node/1485 | เด็ก 10 ขวบค้นพบซูเปอร์โนวา |
ภาพเครื่องต้นแบบของเครื่องบินรบ J-20 จากประเทศจีนถูกเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตจนนับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นเครื่องบินล่องหนจากจีน นับแต่ทางการจีนระบุว่ากำลังพัฒนาเครื่องบินล่องหนของตัวเอง
เรื่องที่ถกเถียงกันคือเครื่องบิน J-20 นั้นออกปฎิบัติการได้จริงแล้วหรือยังเป็นเพียงโครงเปล่าๆ ที่ทดสอบความสามารถในการหลบการตรวจจับสัญญาเรดาร์อยู่
ทางการจีนเคยระบุว่าเครื่องบินล่องหนของจีนเองน่าจะเริ่มประจำการได้ในปี 2018 ถึง 2020
ภาพทั้งหมดถ่ายโดยช่างภาพสมัครเล่นที่ถ่ายจากนอกรั้วฐานทัพ
ที่มา - Wall Street Journal | https://jusci.net/node/1488 | กองทัพอากาศจีนโชว์เครื่องบินรบล่องหน |
องค์การนาซ่าเปิดบันทึกการโต้ตอบระหว่างนักบินและศูนย์ภาคพื้นทั้งหมด โดยตอนนี้มีบันทึกของโครงการ Apollo 13 (เกิดอุบัติเหตุและต้องช่วยนักบินให้กลับบ้าน), Mercury 8 (ส่งมนุษย์ขึ้นวงโคจรเป็นครั้งแรก) ส่วนโครงการอื่นๆ กำลังตามมาเร็วๆ นี้
ติดตามความคืบหน้าได้ที่ @spacelogdotorg
"ฮุสตัน เรามีปัญหาแล้ว..."
ที่มา - Spacelog.org | https://jusci.net/node/1490 | นาซ่าเปิดบันทึกการสื่อสารระหว่างศูนย์และนักบินของโครงการในช่วงแรกทั้งหมด |
แม้ระบบ GPS ของสหรัฐฯ จะใช้งานได้ดีแถมมีค่าใช้จ่ายต่ำเพราะกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ดูแลรักษาดาวเทียมทั้ง 24 ดวงให้ แต่ในแง่ความมั่นคงแล้วก็นับว่าอันตรายอย่างยิ่งเพราะสหรัฐฯ อาจจะปิดสัญญาณไม่ให้ต่างชาติเข้าใช้งานเมื่อใหร่ก็ได้ ล่าสุดทางการญี่ปุ่นก็ระบุว่ารัฐบาลกำลังที่จะสร้างระบบ GPS ของตัวเอง
ดาวเทียมชุดแรกของญี่ปุ่นจะยิงขึ้นไป 6-7 ดวงและทำงานได้ในปี 2014-2015 โดยจะครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากความมั่นคงแล้วดาวเทียมชุดนี้ยังใช้ช่วยเสริมความแม่นยำจากระบบ GPS ของสหรัฐฯ ได้ด้วยในตัว โดยใช้งบประมาณสองแสนล้านเยนหรือหกหมื่นล้านบาท
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1491 | ญี่ปุ่นกำลังสร้างระบบ GPS ของตัวเอง |
หลอดไส้หรือหลอด incandescent นั้นมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุคเอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟ ผ่านไปกว่าร้อยปีหลอดไส้ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงแม้จะมีประสิทธิภาพในเชิงพลังงานต่ำจนหลายประเทศต้องออกกฏหมายเพื่อให้เลิกใช้หลอดไส้แล้วหันไปใช้เทคโนโลยีที่ประสิทธิภาพดีกว่า ล่าสุดร้าน IKEA ที่ขายอุปกรณ์แต่งบ้านขนาดใหญ่ก็ประกาศยกเลิกการสต็อกหลอดไส้ทั้งหมดในร้านตั้งแต่วันนี้
สาเหตุที่คนยังนิยมหลอดไส้มักเกิดจากความเคยชินหรือความเชื่อที่ว่าแสงจากหลอดไส้นั้นนวลกว่าและดีต่อสายตามากกว่าแม้จะไม่เคยมีรายงานว่าหลอดฟลูออเรสเซนส์นั้นทำลายสายตาแต่อย่างใด
IKEA แนะนำให้ลูกค้าที่ต้องการได้แสงนวลแบบเดียวกับหลอดไส้หันไปใช้หลอดฮาโลเจนที่ประสิทธิภาพดีกว่า 30% แทน
ที่มา - IKEA Press Release | https://jusci.net/node/1492 | IKEA เลิกขายหลอดไส้ถาวร |
ไม่ต้องรอถึงปี 2012 ครับ เพราะจากรายงานล่าสุดเปิดเผยว่าแค่ปี 2010 ที่ผ่านมา เราก็ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างหนักหนาสาหัสกันแล้ว
บริษัทประกันภัย Munich Re รายงานว่า เมื่อปีที่ผ่านมาความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาตินั้นสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน จำนวนผู้เสียชีวิตมีกว่า 295,000 ราย และมูลค่าความเสียหายกว่า 130 พันล้านเหรียญ ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2009 จำนวนผู้เสียชีวิตมีทั้งหมด 11,000 รายและมูลค่าความเสียหายประมาณ 60 พันล้านเหรียญ และตัวเลขความเสียหายในปี 2010 นี้จะยิ่งน่าตกใจหากย้อนกลับไปดูสถิติเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 66,000 ราย และทรัพยสินเสียหายเฉลี่ย 95 พันล้านเหรียญ
ตำแหน่งของการเกิดภัยพิบัตินั้นก็ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านๆ มา แบ่งตามทวีปได้เป็น ทวีปอเมริกาครองแชมป์สูงสุดที่ 362 ครั้ง ตามมาด้วยเอเชียของเรา 310 ครั้ง ยุโรป 120 ครั้ง 90 ครั้งในแอฟริกาและ 65 ครั้งในออสเตรเสียและโอเชียเนีย
ภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดก็คือแผ่นดินไหว โดยแค่แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ที่เฮติเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้วครั้งเดียวก็มีผู้เสียชีวิตกว่า 222,570 ราย แต่มูลค่าความเสียหายหายอยู่ที่ 8,000 ล้านเหรียญ เนื่องจากทรัพยสินที่เสียหายไม่ได้มีการทำประกันไว้ ส่วนที่สร้างความเสียต่อทรัพยสินมากที่สุดคือแผ่นดินไหว 8.8 ริกเตอร์ที่ชิลี ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายกว่า 30 พันล้านเหรียญ รองๆ สามารถดูได้จากแหล่งข่าว โดยคร่าวๆ ก็จะเป็นไฟไหม้ป่าที่รัสเซีย แผ่นดินไหวในจีน และน้ำท่วมในปากีสถาน
ผมอ่านดูแล้ว ยังไงบ้านเราก็ถือว่าดีมากมายแล้ว ที่ไม่ได้อยู่ในแนวที่จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ อย่างบางประเทศ
ที่มา - LiveScience | https://jusci.net/node/1493 | 2010 ปีแห่งหายนะจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ |
นักจิตวิทยาจาก Jena University ในประเทศเยอรมนี เปิดเผยผลการทดลองที่เป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคนยกเว้นก็แต่คลีนิกศัลยกรรม เพราะการทดลองนั้นคือหนทางสว่างที่จะทำให้เราดูเด็กลงโดยไม่ต้องพึ่งมีดหมอหรือเครื่องสำอางเลยแม้แต่น้อย
การทดลองมีดังนี้ คือ ตอนแรกนักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูภาพของกลุ่มคนที่มีช่วงอายุใดอายุหนึ่งก่อน จากนั้นก็ฉายภาพคนวัยกลางคนให้ผู้เข้าร่วมทายอายุ ผลปรากฏว่าถ้าผู้เข้าร่วมได้ดูภาพของคนแก่มาก่อน จะทายอายุของคนวัยกลางคนในภาพหลังน้อยกว่าความเป็นจริง ในทางตรงกันข้าม หากผู้เข้าร่วมได้ดูภาพคนที่มีอายุน้อยมาก่อน ก็จะทายอายุของคนวัยกลางคนในภาพหลังมากกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้ เรื่องเพศก็มีผล นั่นคือ หากคนในภาพแรกและภาพหลังเป็นคนเพศเดียวกัน ผู้เข้าร่วมจะทายผิดมากกว่า อย่างไรก็ตามเพศและอายุของผู้เข้าร่วมการทดลองไม่มีผลต่อการทายผิดทายถูก
ดังนั้นต่อไปนี้ จะไปไหนมาไหนให้เดินไปกับพี่ อย่าชวนน้องไป แต่ถ้าพี่หน้าเด็กกว่า ให้ตัดพี่ตัดน้องไปเลย :P
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1494 | อยู่ข้างๆ คนแก่ แล้วเราจะดูเด็ก |
การตรวจวัณโรคเป็นอะไรที่ยุ่งยาก เสียเวลา และเสี่ยงต่อความผิดพลาด เทคนิคที่ใช้สืบทอดกันมากว่า 100 ปีคือนำเสมหะมาป้ายลงบนสไลด์กล้องจุลทรรศน์แล้วย้อมสี จากนั้นค่อยส่องดูใต้กล้องจุลทรรศน์เพื่อตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ต้นเหตุของโรค หลายครั้งที่ตรวจไม่พบเชื้อในผู้ป่วยทั้งที่ผู้ป่วยเป็นโรค เพราะการตรวจจะเจอแต่กรณีที่เชื้อมีความเข้มข้นสูงเท่านั้น รายงานว่ามีมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยวัณโรคที่ผลการตรวจเสมหะในทีแรกไม่เจอเชื้อ แม้ว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) จะมีเครื่องมือใหม่ที่ให้ผลการตรวจที่แม่นยำได้ในเวลาสองชั่วโมง แต่เครื่องนั่นก็มีราคาสูงถึง $17,000 และการตรวจแต่ละรอบต้องเสียค่า cartridge อีก $17
ทีมวิจัยที่นำโดย ศาสตราจารย์ Alan Poling แห่ง Western Michigan University ได้เสนอตัวช่วยใหม่ที่เก่งกว่า แม่นยำกว่า ราคาถูกกว่า และที่สำคัญ น่ารักกว่า นั่นคือ ให้หนู Gambian pouched rat มาช่วยดม
Gambian pouched rat (Cricetomys gambianus) เป็นหนูยักษ์หนักได้ถึง 10-15 ปอนด์ เป็นสัดว์ท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา จากการทดสอบของทีมวิจัยพบว่าหนู Gambian pouched rat ที่ถูกฝึกสามารถดมแยกแยะเสมหะที่มีเชื้อ Mycobacterium tuberculosis และไม่มีเชื้อได้อย่างแม่นยำ โดยเมื่อเอาเสมหะที่มีเชื้อให้ดม หนูทายถูกว่ามีเชื้อ 86.6% และเมื่อเอาเสมหะที่ไม่มีเชื้อให้ดม หนูก็ทายถูกว่าไม่มีเชื้อ 93% ถ้าเอามาเทียบกับวิธีแบบเดิมก็พบว่า หนูตรวจพบผู้ป่วยวัณโรคมากกว่าถึง 44%
วิธีการฝึกหนูนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนซ่อนเงื่อน คือ เมื่อหนูอายุได้ 8 สัปดาห์ นักวิจัยจะเอาตัวอย่างเสมหะที่มีเชื้อและไม่มีเชื้อไปให้หนูดม เมื่อมันทำท่าฟุดๆ ฟิดๆ อยู่กับเสมหะที่มีเชื้อนานเกิน 5 วินาที มันจะได้รางวัลเป็นถั่วและกล้วย แต่หากมันไปฟุดฟิดอยู่กับเสมหะที่ไม่มีเชื้อ มันก็จะไม่ได้อะไร พออายุ 26 สัปดาห์ นักวิจัยก็จะคัดเอาเฉพาะหนูเก่งๆ ที่สอบผ่านมาทดสอบสนามจริง
นอกจากดมกลิ่นเชื้อวัณโรคได้แล้ว ในบ้านเกิดที่แอฟริกา หนู Gambian pouched rat ยังมีวีรกรรมในฐานะผู้กู้กับระเบิดตัวยงด้วย เหตุผลที่เลือกหนูก็เพราะมันดมกลิ่นเก่งและตัวมันยังเบาเกินกว่าจะไปกดให้สลักระเบิดทำงานได้
ที่มา - New York Times
ป.ล. ใครอ่านพาดหัวข่าวจาก "หนูดม" เป็น "หนูอม" สารภาพบาปที่คอมเม้นต์ด้านล่างด้วย :) | https://jusci.net/node/1495 | มามะ มาให้หนูดม... คุณหมอหนูจะตรวจวัณโรค |
ปลวกเป็นแมลงสังคม (Eusocial insect) ที่มีความน่าสนใจ โดยทั่วไปปลวกแต่ละรังจะประกอบด้วย ราชาและราชินี 1 คู่ทำหน้าที่ผสมพันธุ์, ปลวกงานทำหน้าที่หาอาหารและดูแลรัง, ปลวกทหารทำหน้าที่ปกป้องรัง ดังนั้นเมื่อราชาและราชินีตายลง ทั้งรังย่อมเกิดความระส่ำระส่าย ในแมลงสังคมอื่นๆ รวมถึงปลวกบางชนิด ส่วนใหญ่พวกปลวกงานหรือมดงานจะปลดแอกตัวเองเป็นอิสระ แต่ละตัวจะพัฒนาระบบสืบพันธุ์ขึ้นมาแล้วก็แก่งแย่งกันเป็นราชาหรือราชินี (มดงานเป็นตัวเมียทั้งหมด แต่ปลวกงานมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย) สุดท้ายก็ตีกันเอง บ่อยครั้งที่ลงเอยด้วยการตายยกรัง
แต่สำหรับปลวกบางชนิด เช่น Cryptotermes secundus การสืบทอดราชวงศ์ปลวกมีความสงบเรียบร้อยกว่านั้นมาก
Cryptotermes secundus เป็นปลวกโบราณ มันไม่สร้างจอมปลวกแบบที่ปลวกอื่นๆ ทำกัน แต่พวกมันจะรวมกันอยู่ในซากท่อนไม้ที่ใช้เป็นรัง โดยเฉลี่ยแต่ละรังมีสมาชิก 50-100 ตัว นักวิทยาศาสตร์สองคน คือ Judith Korb และ Katharina Hoffmann แห่ง University of Osnabrück ในประเทศเยอรมนีได้ทำการทดลองโดยนำปลวกชนิดนี้มาเลี้ยง พอพวกปลวกตายใจก็แอบฉกราชาและราชินีออกมาจากรัง แล้วสังเกตดูว่าพวกปลวกงานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จะมีกลุ่มปลวกน้อยหัวใจรักรังมาเรียกร้องอะไรหรือเปล่า?
เสียดายที่พวกปลวกไม่ได้ห่วงใยราชาและราชินีที่หายไปเลย พวกเขาสังเกตพบว่า ภายในระยะเวลา 9 วันหลังจากที่ราชาและราชินีถูกลักพาตัวไป ปลวกงาน (ซึ่งความจริง ปลวกงาน C. secundus ไม่ค่อยจะทำงานหนักสมชื่อ "ปลวกงาน" เท่าไร วันๆ ก็คอยจ้องจะเป็นราชาหรือราชินีซะเองถ้ามีโอกาส) ประมาณ 12% จะลอกคราบแล้วพัฒนาระบบสืบพันธุ์ขึ้นมาเพื่อช่วงชิงตำแหน่งราชา-ราชินี ส่วนตัวที่เหลือซึ่งพัฒนาระบบสืบพันธุ์ขึ้นมาไม่ทันก็จะเป็นปลวกงานตามเดิม
ในกลุ่มของผู้เข้าชิงตำแหน่ง ว่าที่ราชาและราชินีทั้งหลายจะเข้าต่อสู้วัดกำลังกัน ใครอยู่รอดได้บัลลังก์ไป ใครแพ้จะโดนส่งต่อไปให้ปลวกงานกินเรียบ หลังจากชนะแล้ว งานของราชาและราชินีตัวใหม่ยังไม่จบ พวกมันจะต้องเอาชนะใจพสกนิกรปลวกด้วยการเอาหนวดไปแตะๆ ปลวกงานทุกตัวในรัง เพื่อสร้างความคุ้นชินกับสมาชิกของรัง จากนั้นมันจะถ่ายมูลที่มีฟีโรโมนแสดงความเป็นราชาและราชินีออกมา ฟีโรโมนนี้จะไปกดไม่ให้ปลวกงานตัวอื่นพัฒนาระบบสืบพันธุ์ขึ้นมาอีก
แม้ว่าจะมีปลวกตายไปบ้าง แต่ก็ต้องถือว่า ระบอบการตั้งราชวงศ์ใหม่ของ Cryptotermes secundus เป็นวิธีที่ค่อนข้างสันติ เทียบกับญาติใกล้เคียงของมัน C. domesticus ซึ่งถ้าราชาหรือราชินีหายไป ปลวกงานมากถึง 35% จะพัฒนาระบบสืบพันธุ์ขึ้นมาช่วงชิงตำแหน่ง สุดท้ายก็เลยเถิดไปถึงขั้นสงครามกลางเมือง (หรือ กลางรัง) จนพากันตายเหี้ยน
Judith Korb พบว่าแนวทางสันติวิธีมีประโยชน์ต่อความอยู่รอดของปลวกด้วย เขาได้ลองจับ Cryptotermes secundus กับ Cryptotermes domesticus มาปล่อยให้อยู่ในที่เดียวกัน ปรากฏว่าผ่านไปสองปี มี C. secundus รอดอยู่ 4 รังจาก 16 รัง ในขณะที่ C. domesticus เหลือรอดแค่รังเดียวจาก 16 รัง
ที่มา - New Scientist | https://jusci.net/node/1496 | การเมืองแนวสันติวิธีแบบปลวกๆ |
ถ้าภาพหญิงสาวที่ร้องไห้จนขี้มูกโป่งไม่ทำให้คุณหมดอารมณ์แล้วล่ะก็ น้ำตาจะทำหน้าที่นั้นแทนเอง จากการศึกษาของนักวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่ง Weizmann ในประเทศอิสราเอล ที่นำโดยคุณ Noam Sabel พบว่า สารเคมีที่ไร้กลิ่นในน้ำตา จะลดระดับเทสโทสเตอโรนของคุณลงเมื่อคุณสูดดมมันเข้าไป
น้ำตาแห่งอารมณ์นั้น ประกอบด้วยสารเคมีที่แตกต่างออกไปจากน้ำตาที่ไหลออกมาตอนผงเข้าตา ซึ่งก่อนหน้านี้ นักชีววิทยาสับสนว่านอกจากเป็นการระบายความรู้สึกแล้ว มันมีเหตุผลอื่นใดอีกหรือเปล่า
ในน้ำตาของหนูนั้นจะมีสารฟีโรโมน โมเลกุลไร้กลิ่นนี้จะไปกระตุ้นสัญชาติญาณพื้นฐานในสัตว์หลายชนิด คุณ Sobel เลยคิดว่า มันน่าจะมีทดลองด้วยหลักการเดียวกันนี้บ้าง
เริ่มต้นด้วยให้อาสาสมัครผู้หญิงดูหนังเศร้า ๆ ในห้องทดลอง แล้วเก็บน้ำตาของพวกเธอใส่หลอดทดลองไว้ และเพื่อเป็นการเปรียบเทียบ นักวิจัยได้หยดน้ำเกลือลงบนแก้มของพวกเธอ แล้วเก็บน้ำเกลือเหล่านี้กลับไปด้วย
หลังจากนั้นก็เชิญอาสาสมัครผู้ชายมาดูรูปหญิงสาว แล้วให้คะแนน พวกเขาพบว่า เมื่อบรรดาผู้ชายได้สูดดมกลิ่นน้ำตาจริงเข้าไป ความน่าดึงดูดใจของหญิงสาวในภาพจะลดลง ซึ่งต่างจากการสูดดมกลิ่นน้ำตาปลอม ๆ พอตรวจระดับเทสโทสเตอโรนในน้ำลายก็พบว่าลดลงเช่นกัน นอกจากนี้ อัตราการเต้นของหัวใจ ความเร็วของหายใจ อุณหภูมิของผิวหนังก็ลดต่ำลงด้วย พอให้อาสาสมัครชายเหล่านั้นดูหนังเศร้า ๆ ขณะที่อยู่ในเครื่อง MRI แสดงให้เห็นว่า เส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศ (ต่อมไฮโพทาลามัส และลอนฟูสิฟอร์ม) จะทำงานน้อยลง แต่ว่า น้ำตาพวกนี้ไม่ช่วยให้ผู้ชายเข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น แม้แต่นิดเดียว (หมดอารมณ์ แต่ก็ไม่ได้ น่าสงสาร?)
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ อาจเพราะต่อมน้ำตานั้นเป็นตัวรับฮอร์โมนเพศนั่งเอง การเชื่อมโยงนี้เห็นได้ชัดจากโรคตาแห้ง ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ส่วนสาเหตุก็คงเพราะต้องการจะลดระดับการถูกบุกรุกที่จะเกิดขึ้น และเป็นสัญญาณที่บอกถึงความไม่พร้อมในช่วงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศ
การทดลองนี้ยังไม่จบ เพราะยังไม่ได้ทดลองกับน้ำตาของผูชาย แต่ก่อนหน้านั้นพวกเขาต้องหาผู้ชายที่ร้องไห้เก่ง ๆ ให้ได้เสียก่อน
ที่มา: AP - Yahoo! News และ Science Mag | https://jusci.net/node/1497 | น้ำตาพาให้หมดอารมณ์ |
หลังจากที่มีการรั่วไหลของน้ำมันในอ่าวเม็กซิโก ก็มีแบคทีเรียเกิดขึ้นจำนวนมาก จากการศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า แบคทีเรียเหล่านี้จะกินน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติอย่างอีเทน และโพรเพน เป็นอาหาร แม้มันจะทำหน้าที่ได้ดี และง่ายกว่าที่นักวิจัยคิดไว้มาก แต่นักสิ่งแวดล้อมยังเป็นกังวลเกี่ยวกับก๊าซมีเทน ที่รั่วไหลออกมาเป็นครั้งคราวตามรอยแยกของพื้นมหาสมุทรอยู่
การมีก๊าซมีเทนจำนวนมากจะทำให้คุณสมบัติทางเคมีของน้ำทะเลเปลี่ยนไป และมันยังส่งผลกระทบถึงชั้นบรรยากาศอีกด้วย แต่จากการศึกษาของคุณ John Kessler นักเคมีทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัย A&M รัฐเท็กซัส และเพื่อนร่วมงานพบว่า แบคทีเรียพวกนี้กินก๊าซมีเทนได้อีกด้วย พวกเขาสังเกตจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของแบคทีเรีย เวลามีก๊าซมีเทนรั่วซึมออกมา
ข่าวดีนี้คงช่วยลดความกังวลของนักสิ่งแวดล้อมลงได้บ้าง
ที่มา: AP - Yahoo! News
ป.ล. ธรรมชาติย่อมมีทางออกให้กับทุกปัญหา : ) | https://jusci.net/node/1498 | แบคทีเรียช่วยกำจัดก๊าซมีเทนในอ่าวเม็กซิโก |
คาร์บอนก็เหมือนแร่ธาตุอื่นๆ บนโลกที่มีการเคลื่อนที่และเปลี่ยนสภาวะได้ตลอดเวลา มันอาจอยู่ในรูปของก๊าซ ของแข็ง ของเหลว อยู่ใต้น้ำ ใต้ดิน ในอากาศ หรือแม้แต่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตก็ได้ เราเรียกการไหลเวียนของคาร์บอนบนโลกว่า "วัฏจักรคาร์บอน" ผมเชื่อว่าเด็กทั่วโลกต้องเคยเรียนเรื่องนี้
แต่ว่า "เคยเรียน" กับ "เข้าใจ" มันคนละส่วนกัน การศึกษาล่าสุดของกลุ่มนักวิจัยที่นำโดย Laurel Hartley แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ เข้าไปสำรวจความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวัฏจักรคาร์บอนของนักศึกษากว่า 500 คน ในวิทยาลัย 13 แห่งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา นักศึกษาเหล่านี้ล้วนกำลังเรียนวิชาที่เกี่ยวกับระบบนิเวศทั้งนั้น บ้างก็กำลังเรียนชีววิทยาเบื้องต้น จนถึงบางคนก็เรียนนิเวศวิทยาขั้นสูงอยู่
ผลการสำรวจพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ของวัฏจักรคาร์บอน เช่น คำถามที่ว่า "หลังจากถูกเผาผลาญในร่างกายแล้วไขมันไปไหน?" นักศึกษาส่วนใหญ่กลับตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า "มันละลายหายไป" หรือไม่ก็ "มันถูกเผาหายไปในอากาศ" ทั้งที่จริงคำตอบที่ถูกต้องคือ "หลังจากถูกเผาผลาญเสร็จสิ้น ไขมันจะกลายเป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ ซึ่งถูกกำจัดออกจากร่างกายพร้อมกับการหายใจออก" ไม่มีทางที่อยู่ดีๆ มันจะหายไปเฉยๆ ได้ (กฏทรงมวล - สสารไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองหรือหายไปได้ แต่เปลี่ยนรูปได้)
อีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความเจ็บแปลบให้กับครูวิทยาศาสตร์คือ นักศึกษาที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่เข้าใจว่า "มวลชีวภาพ (biomass) ของพืชได้มาจากการดูดอาหารจากดิน" ซึ่งก็ผิดอีก มวลชีวภาพของพืชเกือบทั้งหมดทั้งต้นได้มาจากผลผลิตของการสังเคราะห์ด้วยแสง คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศนั่นเองที่เป็นอาหารหลักให้พืชเอาไปใช้สร้างลำต้น ราก กิ่ง ก้าน ใบ ชะชะ ใบ ก้าน กิ่ง...
นักวิจัยคิดว่าปัญหาความเข้าใจผิดพวกนี้อยู่ที่แบบเรียนและผู้สอนวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันไม่สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเด็กได้ โดยเฉพาะเรื่องการที่สสารเปลี่ยนจากก๊าซไปเป็นของแข็ง หรือ ของแข็งเปลี่ยนเป็นก๊าซ ถ้าไม่ได้เรียนมา ใครๆ ก็ต้องจินตนาการว่าพืชดูดจ๊วบๆ เอาอาหารขึ้นมาจากดินเหมือนกับเรากินข้าว ใครจะกล้าคิดตอบออกมาได้ว่ามวลพืชมาจากอากาศ เกิดตอบผิดอายยกชั้น (นักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนก็เคยเชื่อว่ามวลของพืชมาจากดิน)
ข่าวนี้ทำให้ได้ข้อคิดว่า แม้ตอนนี้เด็กที่พอรู้ความเกือบทั้งโลกรู้จักคำว่า "ภาวะโลกร้อน" กันหมด แต่วงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์กลับไม่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อนได้ ผมคิดว่าไม่ใช่แต่ในสหรัฐอเมริกาหรือเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง ผมเชื่อว่าทั้งโลกเป็นแบบนี้หมด
[พื้นที่โฆษณาประชาสัมพันธ์อีกครั้ง]
ดังนั้นวันเด็กปีนี้ 8 มกราคม พ.ศ. 2554 พ่อแม่ผู้ปกครองท่านใดยังไม่มีแผนจะพาบุตรหลานไปไหนงานวันเด็กที่ไหน อย่าลืม! กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" มีกิจกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กๆ ที่น่าสนใจมากมาย และคณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) มหาวิทยาลัยมหิดล ก็จะเข้าร่วมโดยเปิดพื้นที่คณะฯ ให้เด็กเข้ามาสนุกกับกิจกรรมนิทรรศการได้เต็มที่ ของแจกเพียบ ความรู้ตรึม | https://jusci.net/node/1499 | นักศึกษาสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเรื่องวัฏจักรคาร์บอน |
เหาเป็นปรสิตที่คงไม่มีใครต้องการเก็บไว้กับตัว แต่อย่างน้อยมันก็มีประโยชน์ในการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องเวลาจุดเริ่มต้นที่มนุษย์เริ่มใส่เสื้อผ้า เพราะการจะไปขุดหาหลักฐานของเสื้อผ้าตัวแรกแห่งมนุษยชาตินั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าเสื้อผ้าในยุคแรกน่าจะเปื่อยสลายหายไปหมดตามกาลเวลา ไม่เหลือทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจสอบ
David Reed แห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาและคณะ ได้ศึกษา DNA ของเหาบนลำตัวมนุษย์ (Body louse, Pediculus humanus humanus) เทียบกับเหาบนศีรษะ (Head louse, Pediculus humanus capitis) เหาทั้งสองชนิดนี้เป็นแมลงสปีชีส์เดียวกัน แต่อยู่คนละซับสปีชีส์ ตามปกติเหาบนศีรษะจะวางไข่บนเส้นผม ส่วนเหาบนลำตัวจะวางไข่ตามรอยตะเข็บเสื้อผ้า ไม่มายุ่งเกี่ยวข้องแวะกัน แต่ผสมพันธุ์กันได้ในห้องทดลอง
ดังนั้นหากอยากรู้เวลาโดยประมาณที่มนุษย์เริ่มนุ่งห่มผ้าก็ทำได้โดยการตรวจสอบจากจีโนมเหาดูว่าเหาบนลำตัวกับเหาบนหัวแยกสายวิวัฒนาการกันเมื่อไร สมัยพระเจ้าเหา นั่นเอง ทีมของ David Reed พบว่าเหาทั้งสองเริ่มมีพันธุกรรมแยกกันเมื่อประมาณ 170,000 ปีก่อน ซึ่งก็น่าจะเป็นช่วงเวลาพอๆ กับที่มนุษย์เริ่มถักเสื้อผ้าขึ้นมาไว้สวมใส่นั่นเอง
ลองมาเทียบลำดับเวลากันดูสักนิด
สายพันธุ์มนุษย์ (พวกตระกูล Hominin) สูญเสียขนบนร่างกายเมื่อประมาณ 1,000,000 ปีที่แล้ว (ข้อมูลจากการศึกษา DNA ของยีนที่ควบคุมสีผิว)
มนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) ปรากฏครั้งแรกเมื่อ 200,000 ปีที่แล้ว
มนุษย์เผชิญหน้ากับยุคน้ำแข็งเมื่อประมาณ 180,000-130,000 ปีที่แล้ว
มนุษย์สมัยใหม่อพยพออกจากแอฟริกาเมื่อ 100,000 ปีที่แล้ว
ถ้าดูจากลำดับข้างบนจะพบว่าบรรพบุรุษของเราเคยอยู่กันแบบตัวเปลือยๆ ไม่มีขน ไม่มีเสื้อผ้าเป็นเวลานาน 200,000-300,000 ปีเลยทีเดียว และพอถึงยุคน้ำแข็ง เสื้อผ้าก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อรับมือกับอุณหภูมิโลกที่ลดต่ำลง เสื้อผ้ายังเป็นเทคโนโลยีสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์แพร่กระจายและตั้งถิ่นฐานไปทั่วโลกได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดด้วยสภาพภูมิอากาศอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ในปี 2003 ก็เคยมีการศึกษาพันธุกรรมของเหาโดย Mark Stoneking แห่งสถาบันวิจัยแม๊กซ์พลังค์ ในครั้งนั้นได้ผลสรุปว่ามนุษย์มีเสื้อผ้าสวมใส่เมื่อประมาณ 107,000 ปีก่อน แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อผลการทดลองครั้งนี้ของ David Reed มากกว่า เพราะเทคโนโลยีและข้อมูลสมบูรณ์และทันสมัยมากกว่า และให้ผลที่สอดคล้องตามลำดับเวลามากกว่า
ที่มา - Science Daily, Live Science
หมายเหตุ กรุณาอย่าสับสน เหาลำตัว กับ โลนที่อยู่ตามขนอวัยวะเพศ (crab louse หรือ pubic louse, Phthirus pubis) หน้าตาสองตัวนี้ไม่เหมือนกันสักนิด | https://jusci.net/node/1500 | เพราะเหา ทำให้เรารู้ว่ามนุษย์เริ่มใส่เสื้อผ้าครั้งแรกเมื่อไร |
โมเลกุลขนาดยักษ์เป็นสิ่งธรรมดาสามัญที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายๆ เช่น DNA ของสิ่งมีชีวิต เป็นต้น แต่การสังเคราะห์โมเลกุลขนาดใหญ่ที่เสถียรในห้องทดลองเคมีนั้นกลับเป็นเรื่องที่ยากเย็ญแสนสาหัส นักเคมีส่วนใหญ่จะล้มเหลวเพราะยิ่งโมเลกุลใหญ่ขึ้นเท่าไร พันธะของมันก็ยิ่งแตกหักได้ง่ายขึ้นเท่านั้น ก่อนหน้านี้โมเลกุลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีสร้างได้และเสถียรคือ โพลีสไตรีน (Polystyrene) มีมวลประมาณ 40 ล้านดาลตัน (1 Dalton เท่ากับ ประมาณมวลไฮโดรเจน 1 อะตอม หรือ 1/12 ของมวลอะตอมของ C-12) ลองเทียบเล่นๆ กับ DNA ในจีโนมของคนซึ่งมีมวลประมาณ 2 ล้านล้านดาลตัน จะรู้เลยว่าวิทยาการของเราต่ำต้อยกว่าธรรมชาติขนาดไหน
วันนี้สถิติใหม่ได้ถูกบันทึกขึ้นแล้ว เมื่อทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Dieter Schlüter แห่ง Swiss Federal Institute of Technology ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์โมเลกุลสารที่พวกเขาเรียกว่า "PG5"
PG5 มีมวลมากถึง 200 ล้านดาลตัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นาโนเมตร หรือเทียบเท่าประมาณขนาดของไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคใบยาสูบด่าง (Tobacco mosaic virus) รูปร่างของมันมีลักษณะคล้ายต้นไม้ที่มีกิ่งก้านแตกแขนงหลายๆ แขนง
การสังเคราะห์ PG5 เริ่มจากกระบวนการสร้างโพลีเมอร์ (polymerisation) ของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน โพลีเมอร์ที่ได้จะทำหน้าที่เป็นแกนกลาง หรือ "ลำต้น" ของต้นไม้ จากนั้นก็จะเติมสารเคมีหมู่อื่นๆ เช่น วงเบนซีน* และ หมู่ไนโตรเจน เข้าไปเป็นกิ่งก้านสาขา
ความสำเร็จนี้เป็นการแสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการเคมีสังเคราะห์ ต่อไปอาจประยุกต์ใช้ในการสร้างโมเลกุลไว้ขนส่งโมเลกุลตัวยาหรือสารอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเภสัชได้
ที่มา - New Scientist, PhysOrg
โครงสร้าง PG5 (ภาพจาก New Scientist เครดิตภาพ Angewandte Chemie)
*หมายเหตุ: วงเบนซีน (Benzene ring) เป็นคนละตัวกับ น้ำมันเบนซิน (Benzine) | https://jusci.net/node/1501 | PG5 โมเลกุลสังเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุด |
วิศวกรจาก BAE Systems Advanced Technology Centre ในสหราชอาณาจักร ได้พัฒนาอาวุธเลเซอร์ชนิดใหม่เพื่อไว้ให้เรือพาณิชย์ป้องกันตัวจากโจรสลัด
ปืนเลเซอร์ของ BAE ไม่ใช่ปืนที่ยิงแล้วจะได้เห็นฉากเรือระเบิดตูมตาม, ลูกเรือร่างกายละลายแหลกเหลวนะครับ ปืนเลเซอร์ที่ได้รับการพัฒนาล่าสุดนี้เป็นอาวุธที่ไม่ทำอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ เป้าหมายของมันคือการทำให้ลูกเรือโจรสลัดที่โดนแสงเลเซอร์สาดเข้าตาเกิดอาการตาพร่ามัวมึนงงไปชั่วขณะจนไม่สามารถเข้าโจมตีเรือ เปิดโอกาสให้เรือพาณิชย์ชิ่งหนีได้
แสงเลเซอร์จากปืนนี้มีรัศมีทำการเป็นไมล์ๆ ที่ระยะไกลมากๆ เลเซอร์อาจจะยังไม่ทำให้โจรสลัดมึนงงได้มากนัก แต่อย่างน้อยแสงของมันก็จะไปรบกวนการเล็งเป้าของปืนเรือโจรสลัด ถ้าเตือนกันแล้วยังไม่ฟัง เมื่อโจรสลัดเข้ามาอยู่ในรัศมี 400-500 เมตร ลำแสงเลเซอร์สีเขียวจ้าความกว้าง 3 เมตรที่สาดเข้าลูกตาก็ให้ผลไม่ต่างจากการมองดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงตรง โดนไปนานๆ อาจจะถึงหน้ามืดได้เลย วิศวกรของ BAE ยังวางแผนจะพัฒนาให้แสงเลเซอร์กระพริบได้ด้วยเพื่อเพิ่มความมึนงงเข้าไปอีก
ระดับความรุนแรงของแสงเลเซอร์นี้ไม่ทำอันตรายถาวรกับดวงตาของผู้ที่โดน จุดประสงค์ของมันมีไว้ใช้ป้องกันตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่การโจมตีทางทหาร ดังนั้นหากเกิดการเข้าใจผิดไปส่องเรือผิดลำเข้าก็วางใจได้ว่าจะไม่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ตาบอด ตอนนี้ปืนเลเซอร์ของ BAE ได้รับการทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่รอให้ UN รับรองเท่านั้น มันก็จะเข้าประจำการในเรือพาณิชย์ได้ทันที
ที่มา - The Telegraph | https://jusci.net/node/1502 | วิศวกรอังกฤษสร้างปืนเลเซอร์ต่อต้านโจรสลัด |
เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้วว่านกโดยเฉพาะกลุ่มนกอพยพสามารถหาทิศทางจากสนามแม่เหล็กโลกได้ แต่ไม่เคยมีใครรู้เลยว่าเข็มทิศที่อยู่ในตัวนกนั้นมีที่ไปที่มาอย่างไรกันแน่ มันแอบฝังแม่เหล็กไว้ใต้ปีกหรือว่ามันมี GT 200 ส่วนตัว? ไม่มีใครรู้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดและมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ได้คำนวณพบว่านกสามารถใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ควอนตัมที่เรียกว่า Quantum Entanglement ในการจับทิศทางสนามแม่เหล็กได้
Quantum Entanglement เป็นปรากฏการณ์ที่อนุภาคตัวหนึ่ง เช่น อิเล็กตรอน สามารถ "รับรู้" เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอนุภาคอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นคู่ของมันได้ แม้ว่าทั้งสองจะแยกอยู่ห่างกัน ลองสมมติว่ามีคนตบหน้าแฟนคุณ แล้วคุณซึ่งถูกปิดหูปิดตาอยู่อีกมุมห้องรู้สึกเจ็บหน้าไปด้วย อันนี้คือมนต์รักควอนตัมที่เกิดจาก Quantum Entanglement (เรื่องสมมตินะ ปรากฏการณ์ควอนตัมส่วนใหญ่จะเกิดกับอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ถ้าคุณเจ็บได้จริงนี่คงเกี่ยวกับ "สมองส่วนกลาง" พัฒนาดีเกินไปแล้วหละ สงสัยตอนเด็กเรียนเล่นกลกับ PMC มา ล้อเล่นนะ)
มีทฤษฎีหนึ่งเสนอว่าในเรตินาของนกมีโปรตีน cryptochromes ที่ไวต่อแสงอยู่ เมื่อมีแสงตกกระทบ อิเล็กตรอนตัวหนึ่งจะเด้งหลุดออกมาชั่วคราว ปล่อยให้คู่อิเล็กตรอนของมันอีกตัวซึ่งมีสปินตรงกันข้ามอยู่เดียวดาย อิเล็กตรอนที่เด้งหลุดออกมาข้างนอกจะโยกไปโยกมาตามอิทธิพลของสนามแม่เหล็กโลก แต่คู่ของมันโดนทั้งสนามแม่เหล็กโลกและแรงทางแม่เหล็กที่โมเลกุลโปรตีนส่งออกมา เนื่องจากทั้งสองยังมีความผูกพันเชื่อมกันอยู่ด้วย Quantum Entanglement อิเล็กตรอนทั้งสองตัวเลยรับรู้ได้ว่าคู่ของมันโดนกระทำอย่างไรบ้าง ความแตกต่างนี้จะส่งผ่านเป็นข้อมูลเข้าสู่สมองให้นกแปลผลออกมาเป็นทิศทาง
จากการคำนวณล่าสุด นักวิทยาศาสตร์พบว่าปรากฏการณ์ Quantum Entanglement ของนกสามารถเกิดขึ้นได้เป็นเวลานานถึงกว่า 100 ไมโครวินาที (1 microsecond = หนึ่งส่วนล้านของวินาที) ซึ่งนานพอที่จะส่งข้อมูลไปยังสมองนกได้ ความจริงมันนานมากกว่าที่นักฟิสิกส์สามารถทำได้ในห้องปฏิบัติการ (80 ไมโครวินาที) ด้วยซ้ำและการทดลองนั้นก็ต้องทำที่อุณหภูมิประมาณศูนย์องศาสัมบูรณ์ (ศูนย์องศาสัมบูรณ์ = -273 องศาเซลเซียส)
ผลการคำนวณนี้สนับสนุนการทดลองในปี 2006 ที่นักวิจัยในเยอรมนีซึ่งได้จับนก European robins มาอยู่ในห้องที่ทำจากไม้ แล้วเปิดสนามแม่เหล็กความแรง 150 นาโนเทสลาซึ่งน้อยกว่าสนามแม่เหล็กโลกถึง 300 เท่า ผลปรากฏว่านกบินหลงทิศหลงทางกันไปเลย การที่นกถูกรบกวนด้วยสนามแม่เหล็กที่ต่ำขนาดนี้เป็นการตัดทิ้งอีกทฤษฎีที่บอกว่านกมีสารประกอบของธาตุเหล็กไว้ตรวจจับสนามแม่เหล็ก การจะรบกวนระบบที่ใช้ธาตุเหล็กเช่นนั้นได้ต้องใช้สนามแม่เหล็กที่แรงกว่านี้เป็นพันเป็นร้อยเท่า ดังนั้นนักฟิสิกส์จึงเชื่อว่านกจะต้องพึ่ง Quantum Entanglement ในการหาทิศเป็นแน่
อย่างไรก็ตาม นี่ยังเป็นเพียงทฤษฎีและการคำนวณเท่านั้น จริงๆ นกอาจจะใช้ GT 200 ก็ได้ ใครจะไปรู้ (ผมจะเล่นมุขตามจิกกัดเหน็บแนม GT 200 ต่อไปในทุกครั้งที่มีโอกาส จนกว่าพวกที่เคยมาแถออกทีวีจะออกมาขอโทษประชาชน ฮึ!)
ที่มา - Science News
ป.ล. Quantum Entanglement เป็นสิ่งที่ฝ่ายต่อต้านทฤษฎีควอนตัมเคยเอามาใช้พิสูจน์ว่าทฤษฎีควอนตัมผิด หัวหอกของฝ่ายต่อต้านก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้เลื่องชื่อนั่นเอง ตอนนั้นฝ่ายต่อต้านอ้างว่าจากการคำนวณโดยทฤษฎีควอนตัมแล้วคู่วัตถุสองชิ้นที่อยู่ห่างกันจะรับรู้สภาวะของคู่มันอีกชิ้นได้ ซึ่งแน่นอนเรื่องตลกแบบนี้มันขัดกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ แต่ภายหลังมีการทดลองพิสูจน์ว่า Quantum entanglement เกิดขึ้นได้จริง ผลเลยกลายเป็นว่าการคำนวณของฝ่ายต่อต้านกลับเป็นเครื่องมือสนับสนุนทฤษฎีควอนตัมเองซะงั้น | https://jusci.net/node/1503 | นกใช้เช็มทิศควอนตัมนำทาง |
ในฤดูที่มีอากาศอบอุ่น ผีเสื้อ Bicyclus anynana ก็จะมีพฤติกรรมแบบผีเสื้ออื่นๆ ที่เรารู้จัก นั่นคือ ผีเสื้อตัวผู้รับบทเป็นผู้เกี้ยวพาราสีจีบผีเสื้อตัวเมีย แต่พออากาศหนาวลงเมื่อไร ละครความรักของผีเสื้อชนิดนี้จะพลิกบทบาทไปอย่างสิ้นเชิง
ทีมวิจัยที่นำโดย ศ. ดร. Antonia Monteiro แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ได้ทำการทดลองเอาหนอนผีเสื้อ Bicyclus anynana มาเลี้ยงที่อุณหภูมิ 27 และ 17 องศาเซลเซียส พวกเขาพบว่า เมื่อสังเกตด้วยตาเปล่า ผีเสื้อตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิต่ำมีขนาดของลวดลาย "ตาปลอม" ที่ปีกใหญ่กว่าผีเสื้อตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิสูงและผีเสื้อตัวผู้ที่เลี้ยงในอุณหภูมิต่ำอยู่นิดหน่อย แต่เมื่อส่องด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต ก็พบว่าลายบนปีกของตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิต่ำสะท้อนแสงอัลตราไวโอเลตได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (แมลงส่วนมากรวมทั้งผีเสื้อสามารถมองเห็นรังสีอัลตราไวโอเลตได้)
ภาพปีกของผีเสื้อ B. anynana รูป A. เป็นของตัวเมียในฤดูฝน (อุณหภูมิสูง) B. ตัวผู้ในฤดูฝน C. ตัวเมียในฤดูแล้ง (อุณหภูมิต่ำ) D. ตัวผู้ในฤดูแล้ง ภาพจาก BBC News; เครดิต K. Prudic และ A. Monteiro
เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ทราบกันอยู่แล้วว่าผีเสื้อ Bicyclus anynana ใช้การขยับปีกเพื่ออวดแสดงลวดลายตาบนปีกเป็นจุดสำคัญในการเกี้ยวพาราสีเพศตรงข้าม ทีมวิจัยจึงสงสัยว่าผีเสื้อตัวเมียอาจจะมีวาระซ่อนเร้นอะไรบางอย่างในฤดูแล้ง (ฤดูหนาว) เลยพยายามเปลี่ยนตัวเองให้ดูน่าดึงดูดใจขึ้น
พวกเขาเลยจับเอาผีเสื้อตัวผู้ตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิต่ำมาไว้ด้วยกัน แล้วสังเกตพฤติกรรมตัวเมีย สิ่งที่พบคือ ตัวเมียแสดงพฤติกรรมเกี้ยวพาราสีตัวผู้ ซึ่งต่างจากพฤติกรรมของผีเสื้อที่เลี้ยงในอุณหภูมิสูงลิบลับ ผีเสื้อตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิสูงจะเป็นฝ่ายเลือกตัวผู้ที่เข้ามาจีบ
นอกจากนี้ยังพบว่าผีเสื้อตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิต่ำยังผสมพันธุ์กับตัวผู้มากกว่าและมีอายุยืนกว่าตัวเมียที่เลี้ยงในอุณหภูมิสูงด้วย
นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นเพราะฤดูแล้งในแอฟริกาบ้านเกิดของผีเสื้อ Bicyclus anynana มีอากาศหนาวกว่าในฤดูฝน ผีเสื้อตัวเมียจึงปรับตัวพยายามหาตัวผู้มาผสมพันธุ์ให้มากที่สุด เนื่องจากสำหรับตัวเมียแล้วน้ำเชื้อของตัวผู้ก็คือแหล่งอาหารอย่างหนึ่งนั่นเอง ส่วนในฤดูฝนอาหารหาง่าย การผสมพันธุ์เปลืองพลังงานมากกว่าการหาอาหารเอง ตัวเมียจึงทำเป็นเล่นตัวเรื่องมากได้
ผู้หญิงก็แบบนี้แหละ ชอบเห็นผู้ชายเป็นของตาย จีบทิ้งจีบขว้าง -_-
ที่มา - PhysOrg, BBC News | https://jusci.net/node/1504 | (ผีเสื้อ) "อากาศหนาวแล้ว เรามาไล่จีบผู้ชายกันเถอะ" |
เด็กชาย โชกิ ทานากะ (Shoki Tanaka) อายุ 9 ปี นักเรียนประถมในเขตเทศบาลซาซายามะ (Sasayama) ค้นพบซากฟอสซิลชิ้นส่วนฟันในชั้นหินทรายที่เรียกว่า Sasayama Group ชั้นหินนี้อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่นมีอายุ 110 ล้านปี
ฟันที่ค้นพบมีขนาดยาว 5.7 มม. กว้าง 3.7 มม. และหนา 2 มม. นักวิทยาศาสตร์คาดว่าฟันนี้เป็นของไดโนเสาร์กินพืชประเภทไดโนเสาร์เกราะขนาดลำตัวยาว 3-6 เมตร และสันนิษฐานว่าฟันนี้น่าจะเป็นฟันที่สึกหลุดร่วงออกมาเอง เพราะมีรอยบิ่นอยู่ตรงขอบและด้านบนของฟัน
ฟอสซิลฟันนี้จะถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและกิจกรรมมนุษย์ (Museum of Nature and Human Activities) ณ เมืองเฮียวโก ประเทศญี่ปุ่น
ที่มา - Mainichi Daily News via New Scientist | https://jusci.net/node/1505 | เด็ก 9 ขวบค้นพบฟอสซิลฟันไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น |
เครื่องเร่งอนุภาค Tevatron แห่ง Fermilab ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา จะเกษียณหน้าที่เครื่องเร่งอนุภาคอันดับสองของโลกในเดือนตุลาคม ปี 2011 นี้
ก่อนหน้านี้เคยมีแผนการประชุมกำหนดว่าจะเปิดเดินเครื่อง Tevatron ไปจนถึงปี 2014 เพื่อยกระดับการค้นหาอนุภาคฮิกส์แข่งกับ LHC (Large Hadron Collider) ของ CERN แต่พอวาระจัดสรรงบประมาณมาถึงเข้าจริงๆ ปรากฏว่ากระทรวงพลังงานไม่สามารถดึงงบมาสนับสนุนการดำเนินงานของ Tevatron ได้ ดังนั้นเครื่องเร่งอนุภาคอันดับสองของโลกมีอันต้องลาเกษียณไปตามระเบียบ (เครื่องเร่งอนุภาคที่มีพลังงานสูงสุดอันดับหนึ่งในปัจจุบันก็คือ LHC นั่นเอง)
แต่ยังไม่ต้องถึงกับไว้อาลัยกันนะครับ ประวัติศาสตร์เกียรติยศ 27 ปี ของ Tevatron จะไม่จบลงแค่นี้ แม้ว่าจะต้องหยุดหน้าที่ของการเป็นเครื่องเร่งอนุภาคและการค้นหาอนุภาคฮิกส์หรือ "อนุภาคพระเจ้า" Tevatron ยังจะคงทำหน้าที่ช่วยนักฟิสิกส์ในการศึกษาค้นคว้าด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดซินโครตรอนและอนุภาคนิวตริโน เส้นทางชีวิตนี้เป็นชะตากรรมร่วมกันของ (อดีต) เครื่องเร่งอนุภาคอีกกว่า 15,000 เครื่องทั่วโลก
เพราะฉะนั้นตอนนี้ความฝันของนักฟิสิกส์ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหลุมดำหรือการค้นพบอนุภาคฮิกส์ก็ต้องหวังไว้กับ LHC ที่เดียวแล้ว
นักวิทยาศาสตร์ของ LHC นี่น่าเห็นใจนะ ไร้คู่แข่งแล้วแทนที่จะสบายใจได้ กลับดูเหมือนว่าความกดดันเพิ่มขึ้นหนักกว่าเดิมเสียอีก
ที่มา - Discovery News, New Scientist | https://jusci.net/node/1506 | เครื่องเร่งอนุภาค Tevatron เตรียมปิดตัวปลายปีนี้ |
ช่วงหลังๆ บริษัทใหญ่ๆ มักมีโครงการสนับสนุนโครงงานวิทยาศาสตร์ขึ้นมาให้เด็กๆ ได้เข้าร่วมกันเช่น Intel ISEF หรือ Imagine Cup และกูเกิลก็ตามมาด้วยโครงการ Google Science Fair ที่เปิดให้เด็กอายุ 13 ถึง 17 ปีได้มีโอกาสนำเสนอโครงการวิทยาศาสตร์
การตัดสินจะเป็นการดูว่าการทดลองตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าชัดเจนและสร้างสรรค์เพียงใด ตลอดจนการทดลองมีกระบวนการที่น่าเชื่อถือ ถูกตรรกะมากแค่ไหน
ที่น่าสนใจคือรางวัล ที่ทีมชนะเลิศจะได้ไปทัวร์กับ National Geographic Expeditions ฟรี 10 วัน, และเลือกได้ว่าจะไปดูงานที่ CERN, กูเกิล, LEGO, หรือนิตยสาร Scientific American นอกจากนี้ยังมีเงิน 50,000 ดอลลาร์, และเลโก้รุ่นพิเศษทำขึ้นเฉพาะมาให้ด้วย
ใครรู้จักครูมัธยมส่งข่าวด่วน
ที่มา - Google Science Fair | https://jusci.net/node/1507 | กูเกิลจัดงานประกวดวิทยาศาสตร์ทั่วโลก |
โครงการ Kepler Mission ของ NASA ได้ประกาศความสำเร็จในการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยพบกันมา การค้นพบนี้เป็นก้าวที่สำคัญที่สุดอีกก้าวของการหาดาวเคราะห์ที่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยได้อย่างโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของโครงการ Kepler mission
เหตุผลที่ดาวเคราะห์ดวงนี้สำคัญขนาดนั้นก็เพราะว่ามันเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรกที่เราสามารถยืนยันได้ว่าเป็นดาวหินแข็งๆ ไม่ใช่ดาวเคราะห์แก๊สยักษ์หรือดาวเคราะห์น้ำแข็งแบบที่เคยพบกันมา (รวมถึงดาวเคราะห์อีกนับไม่ถ้วนที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ว่ามันเป็นดาวประเภทไหนกันแน่)
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า Kepler-10b ห่างจากโลกของเราประมาณ 565 ปีแสง มีขนาดประมาณ 1.4 เท่าของโลก แต่มีมวลเป็น 4.6 เท่าของโลก ที่ความหนาแน่นระดับนี้มันไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นไปได้เลยนอกจากดาวเคราะห์ที่มีส่วนประกอบเป็นหินและโลหะในสถานะของแข็งคล้ายๆ กับดาวพุธ
ที่น่าเสียดายคือ Kepler-10b โคจรใกล้กับ Kepler-10 ดาวฤกษ์ของมันมาก มันอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ของมันใกล้กว่าที่ดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ถึง 20 เท่า อุณหภูมิที่พื้นผิวจึงน่าจะพุ่งสูงถึง 1,400 องศาเซลเซียส เอาว่าเจ้าของฉายา "เตาน้ำแข็งนรก" อย่างดาวพุธต้องชิดซ้าย ดังนั้นคงเป็นไปได้ยากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ นอกจากนี้ Kepler-10b ยังโคจรรอบดาวฤกษ์ของมันด้วยความเร็วสูงปานกามนิต หนึ่งรอบวงโคจรกินเวลาเพียงประมาณ 20 ชั่วโมงเท่านั้น (โลกใช้เวลา 1 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ)
Kepler-10b ถูกค้นพบโดยการตรวจสอบภาพอวกาศที่ถ่ายมาจากกล้องที่ติดบนยานอวกาศ Kepler ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2009 จนถึงเดือนมกราคม 2010 จุดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า Kepler-10 มีดาวเคราะห์โคจรรอบๆ ก็คือ ตอนที่ดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้า Kepler-10 มันจะมีเงาเล็กๆ บังแสงของดาว แต่ว่าการยืนยันขนาดและมวลของ Kepler-10b นั้นนักดาราศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ Keck I ที่ตั้งอยู่บนยอดเขา Mauna Kea ในฮาวาย มาร่วมคำนวณด้วย ตัวเลขที่ได้นั้นเป็นค่าที่เชื่อมั่นได้ว่ามีช่วงผิดพลาดเพียง 2-6%
ความจริงก่อนหน้านี้ในปี 2009 มีการค้นพบดาวเคราะห์ COROT-7b ที่คาดกันว่าอาจจะเป็นดาวหินแข็ง แต่ว่าข้อมูลเกี่ยวกับมวลของมันยังไม่แน่นอน นักวิทยาศาสตร์เลยยังไม่กล้าฟันธง เกือบลืมบอกไป อีกอย่างหนึ่งก็คือ COROT-7b ยังเป็นเจ้าของสถิติเก่า "ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เล็กที่สุด" ด้วย มันมีขนาด 1.7 เท่าของโลก
ต่อไปที่ต้องหาให้เจอก็คือดาวที่เป็นหินแข็งๆ แบบนี้แหละ แต่ขอให้มันอยู่ในวงโคจรดีๆ หน่อย พอให้มีน้ำอยู่ได้บ้างอะไรบ้าง ถึงตอนนั้นเตรียมรออ่านข่าวใหญ่กันอีกรอบ
ที่มา - Live Science, PhysOrg, Science News, New York Times, Ars Technica, Discovery News, New Scientist, BBC News | https://jusci.net/node/1508 | NASA ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่เป็นหินดวงแรก |
เพิ่งจะมีรูปถ่ายฟ้าผ่าปล่อยรังสีเอ๊กซ์ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ก็มีการบ้านเพิ่มขึ้นมาอีกชิ้น เมื่อยานอวกาศ Fermi ของ NASA เจอหลักฐานชิ้นแรกที่ชี้ว่ามีโพสิตรอนถูกปล่อยออกมาจากฟ้าผ่าด้วย
หลักฐานที่ว่าก็คือคลื่นรังสีแกมมา ปกติฟ้าผ่าที่มีพลังงานสูงมากๆ จะปล่อยคลื่นรังสีแกมมาออกมาเรียกว่า terrestrial gamma ray flashes (TGF) เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2009 ขณะที่ยานอวกาศ Fermi โคจรอยู่เหนือประเทศอียิปต์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Fermi Gamma-ray Space Telescope ตรวจพบว่าคลื่นรังสีแกมมาชุดหนึ่งใน TGF ที่เกิดจากฟ้าผ่าในประเทศแซมเบียมีค่าพลังงานเท่ากับ 511 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งตัวเลขนี้ตรงกับพลังงานของคลื่นรังสีแกมมาที่เกิดจากการจับคู่ทำลายล้าง (mutual annihilation) ของอิเล็กตรอนและโพสิตรอนพอดี (โพสิตรอน "positron" คือปฏิสสารของอิเล็กตรอน มีมวลและขนาดประจุไฟฟ้าเท่ากับอีเล็กตรอน แต่มีประจุบวก) และก่อนหน้านี้ก็มีการตรวจพบคลื่นรังสีแกมมาลักษณะเดียวกันจากฟ้าผ่าครั้งอื่นๆ มากถึง 17 ครั้ง
นักฟิสิกส์สันนิษฐานว่าในบางครั้ง ที่ยอดของฟ้าผ่า พลังงานจากสนามไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะไปแยกสลายอะตอมในชั้นบรรยากาศได้เป็นคู่อิเล็กตรอนและโพสิตรอนหลุดออกสู่ห้วงอวกาศ แต่อาจจะเป็นเพราะสนามแม่เหล็กโลกที่ไปเบี่ยงเบนการเคลื่อนที่ของโพสิตรอน ทำให้มีโพสิตรอนบางตัวเคลื่อนที่โค้งกลับไปชนพื้นผิวของยาน Fermi และเกิดการจับคู่ทำลายล้างกับอิเล็กตรอนเกิดเป็นคลื่นรังสีแกมมาแบบที่ตรวจจับได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิทยาการทั้งหมดที่เรามีในตอนนี้ ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างขณะที่มีฟ้าผ่า ฉะนั้นความลับของสายฟ้าก็ยังคงเป็นความลับกันต่อไป
ที่มา New Scientist, Popular Science, Science News | https://jusci.net/node/1510 | ฟ้าผ่าปล่อยโพสิตรอนออกมาด้วย |
จากผลการสำรวจของ Chinese Academy of Science ในปักกิ่งพบว่ากว่า 70% ของแพนด้าในธรรมชาติ (ซึ่งตอนนี้มีไม่เกิน 3000 ตัว) ชอบที่จะอาศัยอยู่ในแถบที่มีต้นไม้เก่าหรือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีอายุมาก
การสำรวจระหว่างปี 1999 - 2003 พบกว่าลักษณะของภูมิประเทศที่แพนด้าชอบมีอยู่สองอย่างคือ เป็นบริเวณที่มีต้นไผ่ขึ้นอยู่มากและมีต้นไม้ขนาดใหญ่และมีอายุมากอยู่ ซึ่งข้อแรกเราก็น่าจะพอเดาได้อยู่แล้ว เพราะในธรรมชาติแพนด้าก็จะไม่ค่อยกินอะไรอย่างอื่นนอกจากไผ่
ส่วนเรื่องที่แพนด้าชอบอยู่แถวๆที่มีต้นไม้เก่านั้น มีข้อสันนิฐานอยู่ 2 ข้อคือ ข้อแรกต้นไผ่ที่ขึ้นอยู่ใกล้ๆต้นไม้เก่านั้น มีสารอาหารมากกว่าต้นไผ่ที่ขึ้นอยู่ที่อื่นหรือแถวต้นไม้ที่ยังมีอายุไม่มากนัก ส่วนข้อที่สองคือต้นไม้เก่าขนาดใหญ่นั้นจะมีรูหรือโพรงให้ลูกแพนด้าได้หลบซ่อน และที่สำคัญคือมีโพรงที่ใหญ่พอจะให้แพนด้าใช้ผสมพันธ์ได้
ซึ่งที่เราเห็นว่าแพนด้าผสมพันธ์ยากเย็นเหลือเกินนั้น ก็อาจจะเป็นเพราะห้องหอแนวใหม่นั้น ไม่ถูกใจคู่แพนด้าหนุ่ม-สาวก็เป็นได้
ที่มา - New Scientist | https://jusci.net/node/1511 | แพนด้าชอบต้นไม้อายุมาก |
เราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆแล้วว่า สองหัวดีกว่าหัวเดียว แต่ถ้าเรามีหัวเดียวก็คงต้องใช้วิธีแบบที่เซียนหมากรุกใช้กันก็คือ ใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมกัน ดีกว่าใช้ซีกเดียว
คุณ Merim Bilalic แห่ง University of Tübingen ในเยอรมันได้ใช้เครื่อง fMRI สแกนสมองของเซียนหมากรุก 8 คนและผู้เล่นมือใหม่อีก 8 ในขณะทำการทดสอบแก้ปัญหา 2 ประเภทคือ ปัญหาเกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิต (ตามที่ผมเข้าใจน่าจะเป็นแนวๆ เลือกรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่เข้าพวก แบบที่เค้านิยมใช้เป็นข้อสอบตอนสัมภาษณ์งาน) และปัญหาที่เกี่ยวกับกลหมากรุกโดยให้หาตัวหมากที่ขาดหายไปจากกระดาน
จากการทดลองพบว่า ในปัญหากลหมากรุกเซียนหมากรุกสามารถแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเกิดจากการใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมกันในการคิดแก้ปัญหา ในขณะที่ผู้เล่นมือใหม่จะใช้เพียงสมองซีกซ้่ายเท่านั้นในการแก้ปัญหา ส่วนในปัญหาเกี่ยวกับรูปทรงเรขาคณิต ไม่พบว่ามีการใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมกันในการแก้ปัญหา
ซึ่งคุณ Bilalic ให้ความเห็นว่าความสามารถในการใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมกันนี้ เกิดขึ้นจากการฝึกฝนจนชำนาญของเซียนหมากรุก แต่ไม่สามารถนำไปใช้กับการแก้ปัญหาอื่นที่ไม่คุ้นเคยได้
ที่มา - New Scientist | https://jusci.net/node/1512 | สองซีกดีกว่าซีกเดียว, เซียนหมากรุกใช้สมองทั้งสองซีกในการแก้ปัญหาหมากรุก |
เวลาที่นักชีววิทยาทำการสำรวจวิจัยประชากรนกเพนกวิน พวกเขาจะติด "แถบโลหะ" (metal band) ที่ทำจากอลูมินัมหรือเหล็กสแตนเลสไว้ที่ปีกของมันเพื่อให้แยกแยะในภายหลังได้ว่าตัวไหนเป็นตัวไหน จะได้ติดตามศึกษาได้ถูก วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานที่นักชีววิทยาทำกันทั่วไปนับสิบๆ ปี แต่จากงานวิจัยชิ้นล่าสุดกลับบอกว่าแถบโลหะพวกนี้เป็นตัวทำร้ายนกเพนกวินซะเอง และนี่ยังเป็นงานชิ้นแรกที่แสดงหลักฐานว่าแถบโลหะติดปีกมีผลเสียระยะยาวต่อนกเพนกวิน
งานวิจัยพลิกวงการชิ้นนี้เป็นของทีมวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสนำโดย Yvon Le Maho และ Claire Saraux แห่ง University of Strasbourg และ Centre National de la Recherche Scientifique (CNRS) พวกเขาติดตามนกเพนกวินราชา (King penguin, Aptenodytes patagonicus) จำนวน 100 ตัว ในหมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย บริเวณระหว่างทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกา เป็นเวลานาน 10 ปี ในนกจำนวน 100 ตัว ครึ่งหนึ่งติดแถบโลหะที่ปีก อีกครึ่งไม่ได้ติด
ถึงตรงนี้อาจจะงง ก็เมื่อกี้เพิ่งบอกไปหยกๆ แล้วถ้าไม่ได้ติดแถบโลหะแล้วจะติดตามนกเพนกวินเป็นตัวๆ ได้อย่างไร? คำตอบคือทีมวิจัยใช้อีกเทคนิคในการติดตามตัวนกโดยใช้วิธีฝังเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ (transponder) เข้าไปใต้ผิวหนังของนกที่ไม่ได้ติดแถบโลหะ พอจะตามตัวนก นักวิจัยก็จะถือเสาอากาศไปแกว่งๆ หาตำแหน่งและระบุว่าเป็นนกตัวไหน
ผลปรากฏว่า ผ่านไปสิบปี มีนกเพนกวินที่ติดแถบโลหะรอดเพียง 10 ตัว ขณะที่นกที่ไม่ได้ติดแถบโลหะรอดชีวิต 18 ตัว ไม่ใช่แค่นั้น นกเพนกวินที่ติดแถบโลหะยังมีลูกน้อยกว่านกที่ไม่ได้ติดถึง 41% (นกที่ติดแถบมีลูก 47 ตัว นกที่ไม่ได้ติดมีลูก 80 ตัว)
นักวิจัยเชื่อกันว่าแถบโลหะไปบั่นทอนประสิทธิภาพในการว่ายน้ำของนกเพนกวิน สังเกตได้จากนกที่ติดแถบโลหะจะใช้เวลาในการออกทะเลไปหาอาหารมากถึง 12.7 วันโดยเฉลี่ย เทียบกับนกที่ไม่ได้ติดแถบจะใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 11.6 วัน ก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยว่านกเพนกวินอะเดลี (Adélie penguin) ที่ถูกติดแถบโลหะต้องใช้พลังงานในการว่ายน้ำมากขึ้นกว่าเดิม 24% นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแถบโลหะน่าจะมีผลไปเพิ่มแรงฉุด (drag) ขณะที่นกว่ายน้ำอยู่ในทะเล
อย่านึกว่ากลับบ้านช้าไปแค่วันกว่าๆ ไม่เห็นน่าจะมีอะไร สำหรับนกเพนกวินราชาถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่านกเพนกวินแต่ละตัวที่ออกไปหาอาหารจะมีลูกน้อยหิ้วท้องคอยอยู่ข้างหลังเสมอ อากาศที่หนาวเหน็บของเขตขั้วโลกพร้อมจะฆ่าลูกนกที่อดอยากได้ทุกเมื่อ หรือแม้กระทั่งฆ่าพ่อนกแม่นกซึ่งอ่อนระโหยโรยแรงจากการหาอาหารด้วยเลยก็ได้
นกเพนกวินราชาที่มีแถบโลหะติดปีก (ภาพจาก Nature News; เครดิตภาพ Benoît Gineste)
ทันทีที่ผลงานนี้ตีพิมพ์ กระแสที่ตามมาก็ร้อนแรงมาก จนหวิดจะเปิดฉากตีกันแบบกรณีรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีที่แล้วเลย (ซึ่งเราชอบมากจริงๆ สำหรับเรื่องคนตีกัน)
อย่างแรกคือเรื่องของจริยธรรมนักวิจัยกับความจำเป็นของการใช้แถบโลหะ แน่นอนว่าถ้าแถบโลหะทำร้ายนกเพนกวินชนิดอื่นๆ ในแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นในกรณีของนกเพนกวินราชา สมาคมและองค์กรชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ทั่วโลกจะต้องประกาศยกเลิกการใช้แถบโลหะกับนกเพนกวินทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข ทางเลือกอื่นที่พอใช้ได้ในตอนนี้ก็คือการฝังเครื่องรับส่งสัญญาณเรดาร์ (transponder) แบบที่ทำกันในงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งมันก็มีข้อเสียคือระยะการรับส่งสัญญาณทำได้เฉพาะระยะใกล้ๆ เท่านั้น
นักชีววิทยาที่ศึกษานกเพนกวินบางคนก็โอดครวญว่า "สำหรับนกเพนกวินชนิดอื่น มันอาจจะให้ผลต่างกันก็ได้" อย่างเช่น Dee Boersma แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ยืนยันว่านกเพนกวินแมกเจลแลนที่เธอศึกษามาเป็นเวลาเกือบ 15 ปีไม่เห็นจะได้รับผลเสียร้ายแรงอะไรจากแถบโลหะเลยในกรณีที่ติดแถบโลหะที่ปีกข้างเดียว (แต่ถ้าติดสองข้างก็เจอผลเสียแบบเดียวกัน) บางคนก็เสนอวิธีว่าให้ติดแถบโลหะเฉพาะตอนที่นกเพนกวินอยู่บนบก พอนกจะลงทะเลก็ไปถอดออก! (เอ่อ... หือ...)
กระแสอย่างที่สองคือเรื่องความน่าเชื่อถือของงานวิจัยที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะงานวิจัยที่เอานกเพนกวินราชาหรือนกเพนกวินอื่นๆ เป็นตัวบ่งชี้ถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อสภาพชีวิตของสัตว์ขั้วโลก ต่อไปนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่นกตายเป็นผลมาจากโลกร้อนจริงๆ หรือมันตายเพราะมีแถบโลหะถ่วงปีกมันอยู่
ผมเคยได้ไปลองจับแถบโลหะที่นักวิจัยใช้ติดขานก (นกชนิดอื่นที่ไม่ใช่นกเพนกวิน) ผมคิดว่ามันก็เบาๆ นะ ไม่น่าจะส่งผลอะไรกับนกที่บินในอากาศหรืออยู่บนบก แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน ดีนะที่งานนี้ยังจำกัดวงแค่งานวิจัยนกเพนกวิน ถ้าเป็นเรื่องของแถบโลหะติดขาที่ใช้กับนกอื่นๆ ด้วย จะหนักกว่านี้อีก
ที่มา - Nature News, Science News, PhysOrg, BBC News, Live Science | https://jusci.net/node/1513 | นักชีววิทยางานเข้า! แถบติดปีกฆ่านกเพนกวินทางอ้อม |
ส่วนใหญ่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ขุดเจอมักจะเป้นซากของสิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้ว แต่สำหรับกรณีนี้ไม่ใช่เช่นนั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์เจอแบคทีเรียที่มีชีวิตถูกขังลืมอยู่ในผลึกเกลืออายุ 34,000 ปี!
เมื่อหลายปีก่อน ผลึกเกลือเหล่านี้ถูกขุดขึ้นมาเพื่อมาศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ เผอิญว่าเมื่อไม่นานมานี้ Brian Schubert ซึ่งขณะนั้นยังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันภายใต้การดูแลของ ศ. Tim Lowenstein ได้เอาผลึกเกลือมาส่องดูอีกครั้ง จึงพบว่าภายในผลึกเกลือบางชิ้นมีช่องเป็นโพรงอยู่ข้างใน และในช่องนั้นมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ด้วย ไม่ใช่ซาก แต่เป็นแบคทีเรียเป็นๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่
แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องของผลึกเกลือมีสภาพที่เทียบได้กับการจำศีล เซลล์ของมันหดเล็กลง ไม่มีการทำกิจกรรมใดๆ นอกเหนือไปจากการรักษาสภาพต่างๆ ภายในเซลล์ให้ยังคงสภาพของสิ่งมีชีวิต ไม่มีการสืบพันธุ์ ไม่มีการว่ายไปว่ายมา
นักวิจัยเชื่อว่ากุญแจของการเอาชีวิตรอดผ่านเวลา 34,000 ปีของแบคทีเรียน่าจะเป็นสาหร่าย Dunaliella ที่พบว่าถูกขังอยู่ด้วยกัน สาหร่ายนี้น่าจะเป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรียนั่นเอง
ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่อ้างว่าพบแบคทีเรียอายุกว่า 250 ล้านปีมาแล้ว แต่ผลการทดลองในครั้งนั้นยังเป็นที่น่ากังขาและยังไม่ยอมรับกัน สิ่งที่ทำให้การค้นพบของ Brian Schubert แตกต่างออกไปก็คือเขาสามารถเอาแบคทีเรียที่ค้นพบมาเลี้ยงให้มันกลับคืนสภาพเดิมและแบ่งตัวขยายพันธุ์ได้ นอกจากเลี้ยงในห้องทดลองของตัวเองแล้ว เขายังส่งผลึกเกลือที่มีแบคทีเรียที่ว่าไปยังห้องทดลองอื่นด้วย ซึ่งก็สามารถเลี้ยงให้มันขยายพันธุ์ได้เช่นกัน นับว่าเป็นการยืนยันแบบชัดเจน จะได้ไม่ต้องเถียงกันอีก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแบคทีเรียอายุ 34,000 ปีทุกตัวจะถูกปลุกขึ้นมาได้หมด ในจำนวนตัวอย่างผลึกเกลือกว่า 900 ชิ้นมีเพียง 5 ชิ้นเท่านั้นที่กลับฟื้นคืนสภาพขึ้นมาได้ ทั้งนี้คาดกันได้ว่าตัวอื่นๆ อาจจะตายไปแล้ว, เลยขีดจำกัดที่จะฟื้นตัว, หรือไม่ก็ไม่ชอบสภาวะในห้องทดลอง
ปัญหาที่ต้องขบคิดกันต่อไปคือแบคทีเรียรักษาสภาพของ DNA นานเป็นหมื่นๆ ปีได้อย่างไร? และเรายังมีโอกาสจะเจอสิ่งมีชีวิตที่มีอายุมากกว่านี้อีกได้หรือไม่?
ที่มา - Live Science | https://jusci.net/node/1514 | นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแบคทีเรียเป็นๆ อายุ 34,000 ปี |
ไข้หวัดนก (avian influenza) เคยระบาดอย่างหนักในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อหลายปีก่อน เป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นต้องออกมากินไก่โชว์เพื่อให้โลกรู้ว่าท่านชอบกินไก่ เอ๊ย ไก่ไทยกินได้ แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว ปัญหาไข้หวัดนกก็ยังไม่ได้หมดสิ้นไปเสียทีเดียว ปัจจุบันก็ยังพบมีสัตว์ปีกติดเชื้ออยู่บ้างในบางพื้นที่
วันนี้หนทางการป้องกันการระบาดของไข้หวัดนกกลับสดใสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์และมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ประเทศอังกฤษ สามารถพัฒนาเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมเพื่อยับยั้งการระบาดของไข้หวัดนกที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ H5N1 ได้สำเร็จ พวกเขาตัดต่อพันธุกรรมไก่จนทำให้มันไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสต่อไปยังไก่ตัวอื่นๆ ได้อีก
หลักการคร่าวๆ ของเทคนิคไก่ GMO นี้คือ ยีนที่ถูกตัดต่อนำเข้าไปนั้นจะไปสร้างสาย RNA สั้นๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับรหัสพันธุกรรมที่ไวรัสใช้ในการแพร่พันธุ์ ดังนั้น RNA polymerases (เอนไซม์ที่ใช้ในการสร้าง RNA) ก็จะถูก RNA ตัวนี้เข้าไปแย่งจับ พอไปจับกับ RNA ตัวหลอกหมด RNA polymerase เลยพลาดโอกาสจะได้ไปจับกับ RNA ของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้
อย่างไรก็ตาม ไก่ GMO ยังมีโอกาสติดเชื้อ H5N1 และเป็นโรคตายได้เหมือนไก่ปกติ เพียงแต่มันจะไม่แพร่เชื้อไปยังตัวอื่นที่อยู่ใกล้เคียงอย่างที่ได้บอกไปในตอนต้น
วิธีนี้ให้ผลดีมากกว่าการให้วัคซีน เพราะ 1) ไก่ที่ฉีดวัคซีนแม้จะไม่พัฒนาอาการของโรค แต่ยังมีโอกาสแพร่เชื้อไปยังไก่ตัวอื่นๆ ที่ไม่มีภูมิต้านทานได้ 2) ยีนที่ตัดต่อเข้าไปนี้ลอกเลียนยีนที่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด A ทุกชนิด (H5N1, H1N1, H2N1 ฯลฯ) จำเป็นต้องใช้ ต่อให้ไวรัสกลายพันธุ์ไปสักเท่าไร ยีนที่ตัดต่อเข้าไปนี้ก็ยังทำงานได้ผล โอกาสเดียวที่ไวรัสจะพัฒนาขึ้นมาสู้ได้ คือ ต้องเกิดการกลายพันธุ์ 8 จุดพร้อมกันและต้องให้ RNA polymerase กลายพันธุ์ด้วย ซึ่งโอกาสแบบนี้มีความเป็นไปได้แทบจะเท่ากับศูนย์
แต่ข้อเสียร้ายแรงของไก่ GMO คือ มันแพงมาก ต้นทุนที่นักวิจัยใช้ในการตัดต่อยีนเข้าไปในไก่แค่ไม่กี่ตัวคิดเป็นเงินสูงถึง 50,000 ปอนด์ (ประมาณ 2,400,000 บาท) และการจะเพาะพันธุ์ไก่ GMO ก็ต้องใช้กรรมวิธีที่ผสมพันธุ์คัดเอาแต่เฉพาะไก่สายพันธุ์บริสุทธิ์ (pure breeding) ซึ่งมีเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่ๆ เท่านั้น
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว สงสัยจะต้องรอประเทศรวยๆ บริจาคไก่ GMO เอื้ออาทรมาให้กระมัง
ที่มา - Nature News | https://jusci.net/node/1515 | ไก่ GMO ยับยั้งการระบาดไข้หวัดนก |
ตัวกินมดหนาม หรือ Echidna เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่เหลืออยู่บนโลกใบนี้เพียง 5 สปีชีส์ เป็นตัวกินมดหนามไปซะ 4 สปีชีส์ ส่วนอีกตัวคือตุ่นปากเป็ด หรือ Platypus เราเรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ออกลูกเป็นไข่ว่า Monotremes) พวกมันมีถิ่นอาศัยอยู่ในปาปัวนิวกีนีและทวีปออสเตรเลีย โดยเฉพาะที่ประเทศออสเตรเลีย ตัวกินมดหนามปากสั้น (Short-beaked Echidna, Tachyglossus aculeatus) เป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จในการกระจายตัวเป็นอย่างมาก ว่ากันว่า "สัตว์ที่แพร่พันธุ์ได้เก่งกว่าตัวกินมดหนามก็มีแต่หนูบ้านเท่านั้น" ความจริงข้อนี้ต่างจากพวกตัวกินมดหนามปากยาว (Long-beaked Echidna) ญาติของมันในปาปัวนิวกินีโดยสิ้นเชิง
พูดถึงการกระจายพันธุ์ก็ต้องนึกถึงการผสมพันธุ์ พฤติกรรมการผสมพันธุ์ของตัวกินมดหนามยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีการศึกษามากนัก จนเมื่อเร็วนี้ๆ ทีมวิจัยที่นำโดย Gemma Morrow แห่งมหาวิทยาลัยแทสมาเนียได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับชีวิตรักของตัวกินมดหนามปากสั้นที่เป็นความลับดำมืดกันมานาน
ทีมวิจัยนี้ก็ทำเหมือนกับนักวิจัยหนอนในข่าวที่แล้วทำ นั่นคือ แอบถ่ายคลิปตอนที่ตัวกินมดหนามกำลังมีอะไรกัน แล้วเอามานั่งดู ต่างกันแค่ว่าทีมของ Gemma Morrow ไม่ได้เอาตัวกินมดหนามมาเลี้ยงในห้องทดลอง แต่พวกเขาใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ไปตระเวนหารังรักของพวกตัวกินมดหนาม จากนั้นก็เอากล้องอินฟราเรดไปแอบฝังไว้
หลังจากการตระเวนแอบถ่ายคลิปตัวกินมดหนามมานานถึง 3 ปี ทีมวิจัยนี้ก็ได้สรุปพฤติกรรมทางเพศของตัวกินมดหนามว่า "เป็นพวกชอบเซ็กส์หมู่และชอบลักหลับ"
เซ็กส์หมู่ของตัวกินมดหนามจะเป็นแบบ "ตัวผู้หลายตัวรุมตัวเมียตัวเดียว" ที่เป็นเช่นนี้เพราะตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์นั้นหายากยิ่ง ตัวกินมดหนามเพศเมียไม่ได้พร้อมผสมพันธุ์ในทุกๆ ปีเหมือนกับตัวผู้ นอกจากจะไม่ค่อยพร้อมแล้ว ตัวเมียยังเป็นพวกขี้เซา พวกมันจะนอนจำศีลนานกว่าตัวผู้ประมาณหนึ่งเดือน ตัวผู้บางตัวที่ตื่นมาก่อนอาจจะหื่นจัด ทนไม่ไหว จนต้องจัดการดำเนินกิจกรรมทางเพศทั้งที่ตัวเมียยังหลับอุตุอยู่ก็มี
นักวิจัยพบว่าตัวเมียที่โดนลักหลับนั้นจะคล้ายๆ กับว่าตื่นขึ้นมาชั่วคราว พอมีอะไรกันเสร็จมันก็จะเข้าจำศีลต่อ นอกจากนี้ตอนที่ผสมพันธุ์กันนั้น อุณหภูมิในร่างกายตัวเมียก็ยังไม่เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับปกติด้วยซ้ำ ซึ่งความจริงตรงนี้สร้างความแปลกใจกับนักวิทยาศาสตร์พอสมควร
แต่ผมว่าที่น่าแปลกใจที่สุด คือ "เซ็กซ์จัดกันซะขนาดนี้ หนามมันไม่แทงกันแย่เหรอ?"
ที่มา - Discovery News | https://jusci.net/node/1516 | ตัวกินมดหนามเป็นพวกชอบลักหลับ |
ผู้ชายแสดงถึงความแข็งแกร่ง ส่วนผู้หญิงแสดงถึงความอ่อนโยนเป็นสิ่งที่เรารู้กันมานานแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า ความจริงนี้มีตัวตนอยู่ในสมองของเราด้วย เมื่อคนเรามองรูปหน้าที่บอกไม่ได้ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ถ้าเราสัมผัสอยู่กับสิ่งที่แข็งกระด้าง เราจะคิดว่ารูปนั้นเป็นผู้ชาย และในทางกลับกัน หากเราสัมผัสอยู่กับสิ่งที่อ่อนนุ่ม เราจะคิดว่านั่นเป็นรูปของผู้หญิง
จากการศึกษาที่ผ่านมา ช่วยให้เราเข้าใจร่างกาย และแนวคิดของเรามากขึ้น เป็นต้นว่า ถ้าเราถือของหนักไว้ในมือ เราจะให้ความสำคัญต่อการติดสินใจในครั้งนั้นมากกว่า คนที่ถือของเบา ๆ ไว้ในมือ เป็นต้น แต่คุณ Michael Slepian นักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัย Tufts และเพื่อนร่วมสถาบันของเขา ต้องการรู้ว่า ความจริงอันนี้จะเกิดขึ้นกับการตัดสินใจเรื่องเพศด้วยหรือไม่ เขาจึงได้ทำการทดลองขึ้นมา
ในการทดลองครั้งแรกนั้น พวกเขาให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งถือลูกบอลแข็ง ๆ และอีกกลุ่มถือลูกบอลนุ่ม ๆ ไว้ในมือ และบอกให้พวกเขาบีบ ๆ คลึง ๆ มันเป็นเรื่อย ๆ ในระหว่างที่ดูรูปหน้าที่บอกไม่ได้ว่าเป็นรูปหน้าของผู้ชายหรือผู้หญิง (gender-neutral) แล้วให้ตัดสินใจว่าเป็นรูปหน้าของผู้ชายหรือผู้หญิง อาสาสมัครที่กำลูกบอลนุ่ม ๆ ไว้ในมือ ส่วนใหญ่จะตัดสินว่าเป็นรูปหน้าของผู้หญิง ส่วนกลุ่มที่กำลูกบอลแข็ง ๆ ไว้นั้นจะตัดสินว่าเป็นรูปหน้าของผู้ชาย
และในการทดลองครั้งที่สอง โดยให้อาสาสมัครเขียนคำตอบลงเป็นกระดาษที่มีกระดาษคาร์บอนอยู่ด้านล่าง โดยกลุ่มหนึ่งถูกบอกให้กดลงไปแรง ๆ เพื่อจะทำสำเนาเก็บไว้ แต่อีกกลุ่มบอกให้เขียนเบา ๆ เพื่อจะเก็บกระดาษไว้ใช้ในครั้งต่อไปได้ กลุ่มที่บอกให้กดแรง ๆ จะตอบว่าเป็นรูปหน้าของผู้ชาย แต่กลุ่มที่บอกให้เขียนเบา ๆ กลับตอบว่าเป็นรูปหน้าของผู้หญิง ซึ่งตรงกับการทดลองในครั้งแรก
การทดลองนี้ทำให้เรารู้ว่า สัมผัสทางกายนั้นส่งผลต่อการรับรู้ของสมองได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ที่มา: APS
ดูออกไหมว่าเป็นรูปผู้ชายหรือผู้หญิง?
สร้างจาก Face Average | https://jusci.net/node/1517 | กายสัมผัสกับการรับรู้ |
ฮอร์โมน Oxytocin เป็นฮอร์โมนที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกและระหว่างคู่ครอง ดังนั้นมันจึงได้ชื่อว่าเป็น "ฮอร์โมนแห่งความรัก" แต่ความรักก็มีด้านมืด เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่า Oxytocin ยังไปมีผลกระตุ้นให้คนเกิดความคลั่งชาติ คลั่งเผ่าพันธุ์ ได้ด้วย จนในที่สุดอาจจะลุกลามไปจนถึงการเหยียดเผ่าพันธุ์หรือชนชาติอื่น, อคติ, และความรุนแรง
นักจิตวิทยา Carsten de Dreu แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ได้ทำการทดลองทั้งหมด 5 ชุดกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายชาวดัตช์ (ชาวเนเธอร์แลนด์) จำนวน 280 คน แล้วได้สรุปผลการทดลองว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ Oxytocin จะมีความรู้สึกรักและผูกพันกับคนที่มีชนชาติดัตช์เหมือนกันมากกว่าชาวต่างชาติ
ตัวอย่างเช่น เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างจับคู่ความสัมพันธ์ระหว่างคำที่มีความหมายในแง่บวกหรือในแง่ลบกับชื่อของคนเชื้อชาติต่างๆ (เช่น ชื่อดัตช์ ชื่ออาหรับ ชื่อเยอรมัน เป็นต้น) กลุ่มตัวอย่างที่ได้ดมสเปรย์ที่มี Oxytocin สามารถจับคู่คำที่มีความหมายในแง่บวกกับชื่อชาวดัตช์ได้เร็วกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ดมยาปลอม (placebo) อย่างมีนัยสำคัญ
หรือในการทดลองที่สมมติให้กลุ่มตัวอย่างเลือกว่าจะช่วยชีวิตคน 5 คนโดยต้องยอมเสียสละคนใดคนหนึ่งในห้าคนนั้น คนในตัวอย่างสมมติมีทั้งชื่อที่เป็นชาวดัตช์และชื่อของชาวต่างชาติรวมๆ คละๆ กันอยู่ กลุ่มตัวอย่างที่ได้รับ Oxytocin ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกเสียสละชีวิตชาวต่างชาติเพื่อปกป้องชีวิตของคนที่มีชื่อดัตช์เหมือนกันมากกว่า
นักวิทยาศาสตร์หลายท่านเชื่อว่าผลการทดลองนี้สมเหตุสมผลพอสมควร เพราะแม้ว่า Oxytocin จะเป็นฮอร์โมนที่ทำให้สัตว์สังคมเชื่อใจกันและผูกพันกัน แต่มันก็มีผลกระตุ้นให้สัตว์มีพฤติกรรมก้าวร้าวในการปกป้องอาณาเขตหรือปกป้องลูกอ่อนด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอันหนึ่งที่คาใจนักวิจัยก็คือ "ทำไมบางคนและบางครั้ง Oxytocin ก็ไม่กระตุ้นให้เกิดอคติรักเผ่าพันธุ์พวกพ้องได้" มันอาจจะมีสภาวการณ์เฉพาะอะไรสักอย่างในการกระตุ้นให้เกิดด้านมืดของ Oxytocin ในจิตใจมนุษย์ก็เป็นได้
เฮ้อ ผมสงสัยจังว่าน้ำ...ของบางคนมี Oxytocin ละลายอยู่หรือเปล่า? สาวกถึงได้คลั่งกันนัก
ที่มา - Scientific American | https://jusci.net/node/1519 | ด้านมืดของความรัก... ฮอร์โมนแห่งความรักทำให้คนคลั่งเผ่าพันธุ์ |
เหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือแมลงงั้นสินะ :P | https://jusci.net/node/1520 | จิ้งหรีดสาวชอบกินหญ้าอ่อน [จิ้งหรีดหนุ่มอายุน้อยๆ] |
"แอโรเจล" (aerogel) เป็นวัสดุชนิดหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายกับ "เจล" แต่เปลี่ยนจาก "ของเหลวในอากาศ" มาเป็น "ของแข็งในอากาศ"
บางที่เรียกมันว่า "ควันแช่แข็ง" ด้วยลักษณะของเนื้อวัสดุที่โปร่งใสเกือบทั้งหมด โดยมากมักใช้ธาตุจำพวกซิลิกา หรือเมทัลออกไซด์เป็นส่วนประกอบในฝั่งของแข็ง
ล่าสุดนักวิจัยสามารถสร้างแอโรเจลชนิดใหม่ชื่อ “multiwalled carbon nanotube (MCNT) aerogel” ได้แล้ว ความโดดเด่นของมันคือมีความหนาแน่นเพียง 4 มก./ลบ.ซม. ทำให้มันเป็นของแข็งที่เบาที่สุดในโลก สามารถวางตั้งไว้ได้โดยไม่ล้ม
ภาพดูได้จากลิงก์ที่มากันเองครับ
ที่มา - Gizmag | https://jusci.net/node/1522 | นักวิจัยสร้าง "แอโรเจล" ชนิดใหม่ที่เบาที่สุดในโลก |
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออสเตรเลียตะวันตกและมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ค้นพบว่าแท้จริงแล้วปลาฉลามเป็นสัตว์ที่ตาบอดสี
ทีมนักวิจัยนำโดย Nathan Scott Hart ได้ศึกษาเซลล์จอประสาทตา (retinal cells) ของปลาฉลาม 17 ชนิด ได้แก่ bull sharks, tiger sharks, reef sharks, Port Jackson sharks เป็นต้น พวกเขาพบว่า 10 ชนิดจาก 17 มีแต่เซลล์ชนิดเซลล์รูปแท่ง (rod cells) เท่านั้น
เซลล์รูปแท่งจะรับสัญญาณได้เพียงมีแสงหรือไม่มีแสงเท่านั้น มนุษย์อย่างเราๆ มีทั้งเซลล์รูปแท่งและเซลล์รูปโคน (cone cells) อีก 3 ชนิดไว้รับแสงสีต่างๆ คือ สีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน
ส่วนฉลามอีก 7 ชนิดที่เหลือก็มีเซลล์รูปแท่งเช่นกัน แต่ว่ายังมีเซลล์รูปโคนอีก 1 ชนิดอยู่ด้วย เซลล์รูปโคนที่พบในฉลามพวกนี้รับได้เฉพาะแสงสีเขียวเท่านั้น (ความยาวคลื่น 530 นาโนเมตร) ต่างจากพวกปลากระดูกแข็งส่วนใหญ่และปลากระเบนที่มีเซลล์รูปโคนมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป ก่อนหน้านี้ก็เคยมีการค้นพบว่าวาฬ, โลมา, และแมวน้ำมีเฉพาะเซลล์ที่รับแสงสีเขียว นักวิทยาศาสตร์เลยคาดว่าการมองเห็นของสัตว์ทะเลกลุ่มนี้น่าจะวิวัฒนาการขึ้นมาแบบขนานกัน
นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบายถึงลักษณะตาบอดสีของสัตว์ทะเลกลุ่มนี้ว่า สำหรับสัตว์บกแล้วการมองเห็นสีมีความจำเป็นกับการมีชีวิตรอด (เช่น สีของผู้ล่าที่ตัดกับป่าฉากหลัง) แต่สำหรับสัตว์ในทะเลลึกหรือสัตว์ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ดำลงไปในทะเล มีตาที่เห็นสีได้ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไร เพราะน้ำทะเลจะกรองสีต่างๆ ออกจากแสงที่ส่องลงมาเกือบหมด ดังนั้นการเห็นความแตกต่างของแสงเงา (contrast) มีความสำคัญกว่ามาก นอกจากนี้การค้นพบนี้สอดคล้องกับสถิติที่ว่านักโต้คลื่นที่ใส่ชุดสีดำมักจะโดนฉลามโจมตีมากกว่าด้วย
ที่มา - The Telegraph, PhysOrg | https://jusci.net/node/1524 | ฉลามตาบอดสี |
ประชากรประมาณ 11 ล้านคนในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง (Red River) ของประเทศเวียดนาม ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำจากบ่อบาดาลในการอุปโภคบริโภค และประมาณ 7 ล้านคนในกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะจากการสุ่มสำรวจจากบ่อบาดาล 512 บ่อโดยทีมวิจัยของ Michael Berg จาก Swiss Federal Institute of Aquatic Science and Technology พบว่า 27% ของบ่อเหล่านี้มีปริมาณของสารหนูปนเปื้อนสูงเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (องค์การอนามัยโลกกำหนดให้น้ำดื่มมีต้องมีสารหนูไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร)
หากได้รับเป็นเวลานาน สารหนูจะไปสะสมในผิวหนัง ผม และเล็บ ทำให้เกิดผิวหนังเปลี่ยนสี ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติทางระบบประสาท และยังอาจมีผลให้เป็นมะเร็งที่ผิวหนัง, ปอด, กระเพาะปัสสาวะ, และไต อีกด้วย
นอกจากสารหนูแล้ว 44% ของบ่อที่ว่าก็ยังมีการปนเปื้อนของแมงกานีสในปริมาณสูง ซึ่งแมงกานีสก็มีผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
ปัญหาการปนเปื้อนของสารหนูในน้ำดื่มเป็นสิ่งที่พบได้ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ชิลี จีน ฮังการี อินเดีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา และประเทศไทยของเราด้วย
ที่มา - Scientific American | https://jusci.net/node/1525 | บ่อน้ำดื่ม 1 ใน 4 ของเวียดนามมีสารหนูเกินกำหนด |
สาเหตุหลักๆ ของมะเร็งก็คือ ยีนส่วนที่ควบคุมการแบ่งเซลล์ หรือที่เรียกว่า tumor suppressor genes ไม่ยอมทำงานตามปกติ (ในการแบ่งเซลล์แต่ละรอบจะมีจุดเช็คสภาพอยู่หลายจุด ตามปกติหากเซลล์ตรวจพบว่ามีความผิดปกติในการทำสำเนาพันธุกรรม การแบ่งเซลล์จะหยุดที่จุดใดจุดหนึ่งทันที เพื่อให้เซลล์มีเวลาแก้ไขก่อน แต่ในเซลล์มะเร็งที่ tumor suppressor genes ทำงานผิดปกติหรือไม่ทำงาน ระบบตรวจสอบเหล่านี้จะทำงานได้ไม่เต็มที่หรือไม่ทำงานไปด้วย เซลล์เลยแบ่งตัวไปเรื่อยๆ) ดังนั้นในทางทฤษฎีหากเราทำให้ยีนนี้กลับมาทำงานได้ มะเร็งก็จะหยุดแบ่งตัวอย่างบ้าคลั่ง แล้วกลับมาเป็นเซลล์เด็กดีที่อยู่ในโอวาทดังเดิม
และจากการวิจัยของนายแพทย์สองคน คือ Cinzia Allegrucci และ Andrew Johnson แห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถทำให้เซลล์มะเร็งกลับตัวกลับใจมาเป็นเซลล์ปกติได้จริงๆ อย่างน้อยก็กับเซลล์มะเร็งเต้านม
หลักการนั้นก็ง่ายเหมือนกับเปิด/ปิดสวิตช์หลอดไฟเลย นักวิทยาศาสตร์รู้กันอยู่แล้วว่ามะเร็งเต้านมเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนที่เกาะอยู่กับ DNA ส่งผลให้ tumor suppressor genes ไม่ทำงาน คล้ายๆ กับสวิตช์ถูก "ปิด" อยู่ เมื่อ Cinzia Allegrucci และ Andrew Johnson เอาโปรตีนที่สกัดจาก oocytes (เซลล์ในรังไข่ที่จะพัฒนาไปเป็นเซลล์ไข่) ของตัวซาลามานเดอร์ axolotl (ใครอ่านคำนี้ออก ช่วยบอกผมหน่อยเถอะว่ามันอ่านว่าอะไร?) ใส่เข้าไปในจานเพาะเชื้อ ก็ปรากฏว่า tumor suppressor genes กลับมาทำงานได้อีกครั้ง เซลล์มะเร็งหันมาแบ่งตัวแบบเข้ารูปเข้ารอยเหมือนเซลล์ปกติทั่วไป แม้สังเกตผ่านไปนานถึง 60 วัน ก็ไม่มีอาการบ้าคลั่งให้เห็นเลย
ตอนนี้สิ่งที่ต้องค้นคว้ากันต่อไปคือ โปรตีนตัวไหนใน oocytes กันแน่ที่เป็นตัวไป "เปิด" สวิตช์ tumor suppressor genes ให้กลับมาทำงาน หาตัวการเจอเมื่อไร บริษัทผลิตยาได้สินค้าทำกำไรเพิ่มอีกตัวแน่นอน
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1526 | นักวิทยาศาสตร์ทำให้เซลล์มะเร็งกลับมาเป็นเซลล์ปกติได้ |
เห็นราคาแล้ว เฮ้อ | https://jusci.net/node/1527 | American Physical Society เปิดตัว Physical Review X |
ตั้งแต่เมื่อปี 2002 เคยมีรายงานแล้วว่าพบผู้ป่วยชายหลายคนมีอาการภูมิแพ้น้ำอสุจิตัวเอง หรือที่เรียกกันแบบทางการว่า Post-orgasmic illness syndrome (POIS) อาการทั่วไปคือ หลังจากที่มีการหลั่งน้ำอสุจิ ผู้ป่วยจะมีไข้ คัดจมูก แสบตา และเหนื่อยล้าอย่างหนัก อาการเหล่านี้อาจจะอยู่ได้นานเป็นสัปดาห์
ตอนแรกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางท่านก็คิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากสภาวะทางจิตที่มีผลต่อร่างกาย แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ศ. Marcel Waldinger แห่ง Utrecht University ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ยืนยันว่าอาการภูมิแพ้น้ำอสุจิตัวเองเป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน เหมือนกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ ไม่ใช่อาการทางจิตที่ผู้ป่วยคิดไปเอง
ทีมวิจัยของ ศ. Marcel Waldinger ได้ศึกษากับกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วย POIS จำนวน 45 คน ในจำนวนนี้มี 33 คนยินยอมให้นักวิจัยทดสอบอาการภูมิแพ้ด้วยวิธีเอาเข็มที่จุ่มสารละลายเจือจางของน้ำอสุจิตัวเองจิ้มเข้าผิวหนังที่แขน (skin prick test) ผลออกมาว่า 29 จาก 33 คน แสดงอาการแพ้ ซึ่งสามารถแปลความได้ว่า ภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ป่วยมีการตอบสนองต่อน้ำอสุจิจริงๆ
นอกจากนี้เมื่อทีมวิจัยใช้วิธีการรักษาอาการภูมิแพ้แบบที่เรียกว่า hyposensitization therapy กับผู้ป่วย 2 คน คือ เริ่มแรกฉีดสารละลายน้ำอสุจิที่เจือจางมากๆ เข้าไปก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นทุกๆ เดือน ก็พบว่าภายในระยะเวลา 1 และ 3 ปี ผู้ป่วยมีอาการแพ้ลดลง นี่เป็นอีกหลักฐานที่ชี้ว่าอาการแพ้น้ำอสุจิเป็นความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเหมือนกับโรคภูมิแพ้อื่นๆ และสามารถรักษาให้อาการบรรเทาได้ด้วยวิธีเดียวกัน
ตอนนี้ทีมวิจัยของ ศ. Marcel Waldinger ก็ดำเนินการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ต่อไป ขณะเดียวกันก็พยายามหาคำตอบด้วยว่า "ทำไมผู้ป่วยถึงไม่แพ้น้ำอสุจิที่อยู่ในอัณฑะ แต่จะแพ้ก็ต่อเมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิเท่านั้น?" (ถ้าช่วยตัวเองแล้วไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิ อาการแพ้ก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน)
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1528 | ยืนยันแล้ว "อาการภูมิแพ้น้ำอสุจิตัวเอง" เป็นของจริง! |
Vladimir Romanov นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซียได้ตีพิมพ์งานวิจัย "Non-Orthodox Combinatorial Models Based on Discordant Structures" ที่แสดงถึงกระบวนการแก้ปัญหา 3-SAT ได้ในเวลา O(m * n^4) ซึ่งเป็นเวลา polynomial ทำให้สามารถอนุมานได้ว่า P==NP ในที่สุด
งานวิจัยนี้เคยถูกตีพิมพ์ในภาษารัสเซียมาก่อนและเพิ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ
ซอร์สโค้ดสามารถดาวน์โหลดได้จาก GitHub และงานวิจัยสามารถโหลดได้จาก arXiv.org
การตีพิมพ์ครั้งนี้คงต้องรอการยืนยันจากนักวิจัยอื่นๆ อีกครั้ง แม้ผู้วิจัยจะระบุว่าได้อิมพลีเมนต์อัลกอลิธึ่มแบบอิสระต่อกันมาแล้วสองครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีงานวิจัยจากนักวิจัยของ HP ระบุว่า P != NP มาก่อนหน้านี้
ที่มา - romvf.wordpress.com | https://jusci.net/node/1529 | นักคณิตศาสตร์สามารถแก้ปัญหา 3-SAT ได้ในเวลา Polynomial, P==NP แล้ว? |
ถ้าคุณคิดว่า มดเป็นเกษตรกรตัวเล็กที่สุด เราขอบอกให้รู้ว่ามันไม่ใช่เสียแล้ว ตอนนี้มดเสียตำแหน่งนี้ให้กับ อะมีบา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการค้นพบของคุณเดบรา บรอค (Debra Brock) นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัยสาขาที่เกี่ยวกับนิเวศน์วิทยา และชีววิทยา ของมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ในเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัส
เมื่อถิ่นที่อยู่ของอะมีบา D. discoideum หมดความอุดมสมบูรณ์มันจะดึงแขนที่แยกออกไปกลับมา ดูดแบคทีเรียมาแบกไว้ แล้วก็เดินด้วยขาเทียมไปหาที่อยู่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า (วิดีโอ)
คุณบรอค ใช้เวลาอยู่ในห้องทดลอง เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงสร้างสิ่งมีชีวิต เธอศึกษาตัวอะมีบา D. discoideum ที่อยู่ในป่า ตอนที่เห็นการสร้างสปอร์ของอะมีบาเป็นครั้งแรก เธอแปลกใจมากที่เห็นแบคทีเรียเกาะอยู่กับสปอร์นั้นด้วย
ตอนแรกเธอไม่แน่ว่ามันเป็นแบคทีเรียหรือเปล่า แต่พอเอาสปอร์ที่อยู่ภายในตัวอะบีมาออกมาวางไว้บนถาดเพาะเชื้อ ก็พบว่ามันเป็นแบคทีเรียจริง ๆ ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อพิสูจน์ว่าอะมีบาพวกนี้ไม่ได้ติดเชื้อ เธอจึงจับเอาอะมีบาที่ไม่ได้มีแบคทีเรียเกาะอยู่ มาวางไว้บนถาดที่มีแบคทีเรีย ก็เห็นว่ามันเก็บรวบรวมแบคทีเรียเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง
ในการทดลองอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า อะมีบามันจะแบกแบคทีเรียเหล่านี้ไปยังที่อยู่ใหม่ของมัน หว่านแบคทีเรียไปทั่ว ๆ รอให้มันโต แล้วก็จับมันกิน
แต่เธอก็พบว่า ไม่ใช่ว่าอะมีบาสายพันธุ์นี้ทุกตัวจะทำตัวเป็นเกษตรกร และเธอยังพบอีกว่า ถ้าในสถานที่นั้นไม่มีแบคทีเรีย อะมีบาที่รู้จักการกสิกรรมจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ดี แต่ในสถานที่ที่มีแบคทีเรียอยู่แล้ว มันไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งต่างจากตัวที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรที่สมบูรณ์กว่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะว่า มันหยุดกินก่อนที่แบคทีเรียจะหมดไปก็เป็นได้
มีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่รู้จักการกสิกรรม เช่น มดกัดใบ หรือหอยทากบางชนิตที่รู้จักเลี้ยงเชื้อรา ปลาที่รู้จักดูแลสาหร่าย อะมีบาเป็นจุลินทรีย์พวกแรกที่ค้นพบว่า มันรู้จักการกสิกรรม แม้ว่ามันจะไม่ชำนาญเท่ามดกัดใบ ที่รู้จักกำจัดปรสิต รดน้ำ ใส่ปุ๋ยเชื้อรา และดูแลของมันเป็นอย่างดี ในขณะที่อะมีบาไม่รู้จักที่จะทำแบบนั้น
ที่มา: sciencemag.org
อะมีบาสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ หากที่อยู่อุดมสมบูรณ์ดี มันจะใช้การแบ่งตัว (Binary Fussion) แต่ถ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย มันจะใช้การสร้างสปอร์แทน | https://jusci.net/node/1530 | รู้จักกับเกษตรกรตัวเล็กที่สุดในโลก |
...ในสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศ คือ บารัก โอบามา และ หูจินเทา ได้ตกลงแผนการต่ออายุสนธิสัญญาแพนด้า (Panda diplomacy) กันเรียบร้อย Zang Chunlin เลขานุการสมาคมคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งประเทศจีนก็ได้แถลงการกับสื่อมวลชนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา
โดยสรุปคือ Mei Xiang กับ Tian Tian แพนด้าสองตัวที่จีนให้มาตั้งแต่ปี 2000 นั้นจะได้อยู่ในสวนสัตว์ Smithsonian National Zoological Park ณ กรุงวอชิงตัน ต่อไปจนถึงปี 2015 เป็นการต่อสัญญาเดิมซึ่งมีระยะเวลาเพียง 10 ปี และหมดไปตั้งแต่ปีที่แล้ว ตามเงื่อนไขในสัญญาใหม่นี้ สหรัฐอเมริกาจะต้องจ่ายเงินให้กับประเทศจีนตกปีละ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ (หรือประมาณ 15,000,000 บาท) ถือเป็นค่า "ยืม" แพนด้า เงินทั้งหมดก็ไม่ได้ไปเข้ากระเป๋าใครที่ไหน แต่จะเข้าสมทบในกองทุนเพื่อการวิจัยและอนุรักษ์แพนด้าในประเทศจีนต่อไป
ก่อนหน้านี้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2005 Mei Xiang ได้คลอดลูกแพนด้าออกมา 1 ตัว ชื่อว่า Tai Shan (ซึ่งเป็นข่าวใหญ่โตมาก) และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010 Tai Shan ก็ถูกส่งตัวกลับสาธารณรัฐประชาชนจีนไปเรียบร้อยแล้ว (จีนถือว่าแพนด้าทุกตัวเป็นของจีน เมื่อลูกแพนด้าที่เกิดในต่างประเทศมีอายุครบกำหนดก็จะต้องถูกส่งตัวกลับประเทศจีน)
ที่มา - Scientific American | https://jusci.net/node/1531 | จีนไฟเขียวให้แพนด้าอยู่ต่อได้อีก 5 ปี... |
วิวัฒนาการความสามารถในการนับเลขของสัตว์นั้นยังเป็นเรื่องที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษร่วมของเราพัฒนาขึ้นมา หรือ เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตในหลากหลายสายวิวัฒนาการแยกพัฒนาขึ้นมาอย่างอิสระ กันแน่ และเมื่อนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานที่แสดงว่า ปลาก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่นับเลขเป็น ปัญหาวิวัฒนาการของคณิตศาสตร์ในอาณาจักรสัตว์ก็ยิ่งดูซับซ้อนเข้าไปใหญ่
Gerlai Gomez-Laplaza และ Luis Gomez-Laplaza แห่ง University of Oviedo ในสเปน พบว่าปลาเทวดา (Angelfish) สามารถแยกแยะปริมาณได้ เพราะเมื่อจับลูกเทวดา เอ๊ย ลูกปลาเทวดาปล่อยเข้าไปในตู้ปลาว่างๆ ที่ขนาบข้างด้วยตู้ปลาที่มีฝูงปลาเทวดาขนาดแตกต่างกัน ลูกปลาจะเคลื่อนที่เข้าหาฝูงที่มีขนาดใหญ่กว่าเสมอ แต่มีข้อแม้ว่าอัตราส่วนระหว่างขนาดฝูงปลาทั้งสองต้องสูงกว่า 2:1 หากต่ำกว่านี้ ลูกปลาจะแยกแยะไม่ได้
เมื่อทั้งสองเห็นว่าลูกปลาแยกแยะปริมาณมากน้อยได้ พวกเขาเลยจัดการทดสอบที่ละเอียดกว่านั้น ผลได้ออกมาปรากฏว่าปลาเทวดาสามารถบอกความแตกต่างระหว่างจำนวน 2 และ 3 ได้ ซึ่งก็คล้ายๆ กับว่ามัน "นับ" เลขได้ถึงสาม หากจำนวนเกินกว่า 3 ขึ้นไป ปลาจะนับไม่ได้แล้ว
นอกจากปลาเทวดาแล้ว ทีมวิจัยอีกทีมที่นำโดย Angelo Bisazza แห่ง University of Padova ก็สังเกตเห็นความสามารถด้านการประเมินจำนวนในปลา Mosquitofish ด้วยอีกชนิด พวกเขารายงานว่าปลา Mosquitofish สามารถเรียนรู้ที่จะแยกแยะปริมาณที่ต่างกันได้ และถ้าฝึกดีพอ ปลา Mosquitofish จะสามารถประเมินจำนวนได้ละเอียดกว่าปลาเทวดาอีก แม้อัตราส่วนจะต่างกันน้อยกว่า 2:1 ปลา Mosquitofish ก็แยกแยะได้
นักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่า ดีไม่ดีปลาที่มีพฤติกรรมอาศัยรวมกันเป็นฝูงชะรอยจะมีความสามารถทางคณิตศาสตร์เบื้องต้นกันทุกตัว เพราะในธรรมชาติปลาเหล่านี้จะต้องเลือกเข้าฝูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จะได้มีตาเยอะๆ ไว้ช่วยกันหาอาหารและเฝ้าระวังผู้ล่า
เห็นมั้ย คณิตศาสตร์จำเป็นต่อการอยู่รอดขนาดไหน ดังนั้นหากใครสอบตกเลข ต้องเรียนซ้ำบ้างอะไรบ้าง ก็ให้ถือว่าเป็นการฝึกฝนเพื่อเอาชีวิตรอด... แม้เกรดเราจะไม่รอดก็ตาม ^.^
ที่มา - Discovery News | https://jusci.net/node/1532 | ปลาก็นับเลขเป็น |
จากการศึกษาที่กำลังจะลงใน Clinical Journal of the American Society of Nephrology (CJASN) ฉบับต่อไป แมมโมแกรม นอกจากจะช่วยตรวจหามะเร็งเต้านมแล้ว อาจช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคไตได้ โดยการตรวจหาหินปูน (calcification) ในหลอดเลือด
จากการศึกษาพบว่า การทำแมมโมแกรมสามารถตรวจพบการสะสมของหินปูนในเส้นเลือดแดงที่มาเลี้ยงเต้านม (breast arteries) ของผู้หญิงที่เป็นโรคไตระยะสุดท้าย (end-stage renal disease; ESRD) ถึงเกือบ 2 ใน 3 ซึ่งการตรวจพบหินปูนในเส้นเลือดที่มาเลี้ยงเต้านมนี้เป็นสิ่งที่จำเพาะ และเป็นประโยชน์ต่อการบอกว่ามีหินปูนอยู่ในผนังเส้นเลือดชั้นกลาง (medial vascular calcification) ในผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง (chronic kidney disease; CKD)
การมีหินปูนสะสมในหลอดเลือดแดง อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้าย และโรคไตเรื้อรังมีอัตราการตายที่สูงขึ้น นอกจาการสะสมของหินปูนในผนังชั้นในสุดของหลอดเลือดแล้ว ยังมีการสะสมของหินปูนในผนังชั้นกลาง ซึ่งตรวจเจอได้ยาก และจากการพบหินปูนจากการทำแมมโมแกรมในผู้ป่วยโรคไตนี้ สนับสนุนทฤษฎีที่ว่าผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีแนวโน้มที่จะมีการสะสมของหินปูนในผนังชั้นกลางของหลอดเลือด ซึ่งก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมา
อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญ คือมีการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนน้อย
ที่มา : physorg | https://jusci.net/node/1533 | แมมโมแกรม อาจช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคไตได้ |
โครงการ Mar-500 เริ่มต้นมาตั้งแต่กลางปี 2010 จนตอนนี้ถึงช่วงกลางของโครงการที่นักบินจะเข้าสู่ช่วงการลงจอดดาวอังคารในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้
โครงการนี้เป็นโครงการทดสอบทางจิตวิทยากับผู้ร่วมโครงการ โดยหลังจากนักบินลงเข้าสู่ช่วงสมมติของการลงจอดบนดาวอังคารแล้ว ผู้เข้าร่วมจะรู้สึกว่าภารกิจได้เสร็จสิ้น แต่ผู้ควบคุมโครงการเตรียมจะส่งเหตุการณ์ฉุกเฉินสมมติเพื่อทดสอบสภาพจิตใจของผู้เข้าร่วมต่อไป โดยเหตุการณ์สมมตินั้นคือการสมมติว่าเครื่องจ่ายไฟเสียทั้งหมดยกเว้นเครื่องหลักที่ใช้สำหรับระบบแกนกลาง ทำให้ยานทั้งหมดมืดสนิทเป็นเวลาหกวันเต็ม
ข่าวยังระบุว่านักบินในโครงการนี้ได้ค่าจ้างคนละ 97,000 ดอลลาร์สำหรับการเข้าร่วมโครงการ
นั่งเล่นเกมสองปีได้เงินเยอะๆ อย่างนี้รอบหน้าจะมีใครสมัครบ้างไหม?
ที่มา - Google News | https://jusci.net/node/1534 | โครงการ Mar-500 มาครึ่งทางแล้ว |
ชื่อพาดหัวข่าวอาจฟังดูน่าขัน แต่เรื่องนี้เป็นของจระเข้โชคร้ายตัวหนึ่งที่ดันงับโทรศัพท์มือถือเข้าไป และดูเหมือนว่ามันจะไม่ได้มีความสุขกับการมีโทรศัพท์อยู่ในท้องซะด้วย
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สวนสัตว์ในเมือง Dnipropetrovsk ประเทศยูเครน เมื่อผู้เข้าชมสวนสัตว์รายหนึ่งชื่อว่า Rimma Golovko พลาดทำโทรศัพท์มือถือหล่นลงไปในบ่อเลี้ยงจระเข้ เธอเล่าว่าในจังหวะนั้นเธอเกือบจะคว้าหมับโทรศัพท์ไว้ได้ทันแล้ว แต่ว่าโทรศัพท์มันลื่นหลุดมือไป ภาพสุดท้ายที่เธอเห็นคือโทรศัพท์กำลังหมุนคว้างตีลังกาเข้าปากจระเข้อย่างสวยงาม
จระเข้ดวงซวยรายนี้มีชื่อว่า Gena เป็นจระเข้เพศผู้อายุ 14 ปี ทันทีที่เกิดเรื่อง Rimma Golovko ก็แจ้งให้กับเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ทราบ แต่ว่าไม่มีใครเชื่อ จนกระทั่งผ่านไปนานเป็นสัปดาห์ๆ เจ้าหน้าที่จึงสังเกตเห็นอาการผิดปกติของ Gena คือ มันไม่ยอมกินอาหาร ขนาดว่าจัดเมนูพิเศษเป็นนกกระทาเป็นๆ มันยังไม่สนใจ และมันยังแสดงอาการซึมเศร้า ไม่ยอมเล่นกับเพื่อนร่วมฝูงเหมือนเคย
สุดท้ายเมื่อเจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงโทรศัพท์ดังมาจากในท้อง Gena นั่นแหละ ทุกคนจึงยอมเชื่อว่า Rimma Golovko พูดความจริง
รวมเวลาถึงตอนนี้เจ้า Gena ก็มีโทรศัพท์อยู่ในท้องนาน 4 สัปดาห์แล้ว!
Oleksandr Shushlenko หัวหน้าสัตวแพทย์ของสวนสัตว์กล่าวว่า Gena จะได้รับการตรวจ X-ray ในสัปดาห์หน้า หากเป็นไปได้ วิธีการแก้ปัญหาขั้นต้นคาดว่าจะเป็นการวางยาถ่าย ส่วนการผ่าตัดนั้นคงจะต้องเก็บไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย เพราะการผ่าตัดเป็นสิ่งที่อันตรายมากสำหรับทั้งจระเข้และสัตวแพทย์เอง
อ้อ เกือบลืม อีกเรื่องที่สำคัญมากและหลายคนคงอยากรู้ โทรศัพท์นั้นยี่ห้อ Nokia
Connecting Crocodile ^.^
ที่มา - Yahoo! News (AP) | https://jusci.net/node/1535 | โทรศัพท์ฟาดหาง จระเข้กริ๊งกริ๊ง |
ลองจั่วหัวให้เฉียดๆจะ Mislead แบบคุณ Terminus ดูบ้าง
คู่ที่เกิดขึ้น คือ Entangle Pair ในโลกแห่งควอนตัมครับ
ปลายเดือนกันยายนเมื่อปีที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ทำการทดลองโดยใช้เข็มซิลิคอน กับฟอสฟอรัสไอออน มาสร้าง Entanglement ด้วยอิเลคตรอนระหว่างธาตุสองชนิดนั้น
ส่วนสำคัญของการทดลองนี้ คือ การปล่อยคลื่นไมโครเวฟเพื่อควบคุมฟังชั่นคลื่นของอนุภาคให้ไปในทางเดียวกัน แล้วจึงสับมาปล่อยคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาวะ Entanglement
ผลที่ได้คือ มีการคาดการณ์ว่า ด้วยปริมาณของอะตอมจากเข็มซิลิคอนกับฟอสฟอรัสไอออน มีความเปนไปได้ที่จะเกิด Entangle Pair สูงสุด คือ 1 หมื่นล้านคู่
ด้วยวิธีการปล่อยคลื่นไมโครเวฟ เพื่อควบคุมฟังค์ชั่นคลื่นของอนุภาคนี้ สามารถวัดผลได้ว่า เกิด Entangle Pair ถึง 98% จากจำนวนหมื่นล้าน
ซึ่งสามารถคำนวนได้ว่า ด้วยจำนวนหมื่นล้านคู่นี้ (ซึ่งน่าจะใช้วัสดุขนาดเล็กนิดเดียว ผมเดาว่าไม่น่าเกิน 1 ล้านล้านอะตอม ซึ่งเล็กกว่าหยดน้ำ)
สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 2.5 GB
แน่นอนว่าถ้าเอาไปทำ Ram หรือ Cache ขนาดเท่าปัจจุบัน จะได้ปริมาณมหาศาล
นี่เปนครั้งแรกที่สามารถสร้าง Entangle Pair ได้ในอัตราส่วนต่อความน่าจะเปนมากขนาดนี้
สรุปได้ว่า นี่เปนก้าวสำคัญของการทำให้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้งานได้จริงครับ
ที่มา : ArsTechnica
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย :
การใช้สารกึ่งตัวนำ อย่างเช่น Silicon มาทำ Entanglement กับไอออนที่เหมาะสม
สารกึ่งตัวนำจะช่วยกักให้ Entangle pair อยู่ได้นานระดับวินาที ซึ่งเปนส่วนสำคัญในการทดลองสร้าง Entangle pair จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ครับ | https://jusci.net/node/1536 | คลื่นไมโครเวฟ + คลื่นวิทยุ ทำให้เกิดการจับคู่ได้นับหมื่นล้านคู่ |
แนวคิด Open Access มีผลอย่างมากต่อสังคมการวิจัยในสหรัฐฯ ในช่วงหลังโดยมีวารสารดังๆ เกิดขึ้นมาเช่น PLoS หน่วยงานหลายหน่วยงานระบุว่างานวิจัยที่ได้รับทุนจะต้องตีพิมพ์งานวิจัยลงในวารสารเปิดเหล่านี้ ทั้งหมดนี้บีบให้สำนักพิมพ์งานวิจัยเก่าแก่อย่าง Nature Publishing Group ผู้ตีพิมพ์วารสาร Nature (Impact Factor: 34.480) ต้องเปิดวารสารใหม่ภายใต้แนวคิด Open Access
วารสารที่ว่านี้ชื่อว่า Scientific Report มันคิดค่าใช้จ่ายในการตีพิมพ์บทความละ 1,350 ดอลลาร์หรือประมาณ 40,000 บาท
บ้านเรามีวารสารหรืองานประชุมวิชาการไหนที่ประกาศตัวเป็น Open Access บ้างรึยัง?
ที่มา - Nature Publishing Group | https://jusci.net/node/1537 | สำนักพิมพ์ Nature Publishing Group เตรียมเปิดวารสารที่เข้าถึงได้ฟรี |
พืชกินแมลงมักจะขึ้นในบริเวณที่ดินมีสารอาหารน้อย มันจึงพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้ล่าเพื่อจะหาสารอาหารมาเลี้ยงตัวเอง โดยการจับแมลงกินเป็นอาหาร แต่ถ้ามันจับแมลงไม่เก่งล่ะ มันจะทำยังไงถึงจะเอาตัวรอดได้?
ในช่วงปี 1980 ในขณะที่นักนิเวศวิทยาชื่อ คุณ Jonathan Moran ขณะนั้นเขากำลังเป็นนักศึกษาปริญญาเอกได้เจอเรื่องแปลก ๆ เกี่ยวกับต้นราฟเฟิลพิชเชอร์ (Raffles' pitcher - Nepenthes rafflesiana) ซึ่งเป็นต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดหนึ่ง มันจับแมลงไม่เก่ง เพราะส่วนใบที่เรียกว่าหม้อนั้นยาวเกินไป สีสัน และกลิ่นก็ไม่เป็นที่ดึงดูดใจของเหล่าแมลงสักเท่าไหร่ แต่ระหว่างที่เขากำลังศึกษาเกี่ยวกับมันนั้น เขาพบว่า มันมีค้างคาวตัวเล็ก ๆ อยู่ในหม้อของมันด้วย แม้เขาจะสงสัยสักเท่าไหร่ แต่เขาไม่ได้ศึกษาถึงความเกี่ยวข้องของทั้งคู่เลย
เวลาผ่านไปสามทศวรรษ นักนิเวศวิทยาอีกคน ชื่อคุณ Ulmar Grafe และลูกศิษย์ของเขาในมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม ที่กำลังค้นหาลูกอ๊อด ที่อาศัยอยู่ในหม้อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ในป่าพรุบนเกาะบอร์เนียว ก็เจอค้างคาวอยู่ในหม้อของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง N. r. elongata อีก และเขาก็ไม่ได้สนใจมันเช่นกัน...
ผ่านไปอีกเดือนกว่า ๆ พอคุณ Grafe ได้อ่านงานวิจัยของคุณ Moran เท่านั้น เขาก็เริ่มเข้าใจความแปลกประหลาดนี้ และคิดว่า "ไม่แน่นะ มันอาจจะเพราะเจ้าค้างคาวตัวเล็ก ๆ พวกนี้ก็ได้ ที่ทำให้ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเหล่านี้อยู่รอดอยู่ได้"
เขาและทีมใช้เวลาตลอด 7 สัปดาห์ที่เฝ้าตรวจสอบต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง N. r. elongata ทั้ง 223 ต้น พบว่ามีมากกว่า 1 ใน 4 ที่มีค้างคาวยอดกล้วยปีกใส* (Hardwicke's woolly - Kerivoula hardwickii) อาศัยอยู่ภายใน ค้างคาวชนิดนี้มีขนาดแค่ 4 ซ.ม. หนักเพียง 3.5 - 6 กรัม ซึ่งเล็กพอที่จะให้แม่ค้างคาวอาศัยอยู่กับลูก ๆ ของมันในหม้อเดียวกันได้ และมีพื้นที่มากพอที่จะให้ค้างคาวกลับหัวเวลาขับถ่ายได้ด้วย จากการติดตามค้างคาวเหล่านี้ 17 ตัวด้วยการติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุขนาดเล็กบนหลังของมัน พบว่ามันเลือกที่จะนอนในหม้อของต้นต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงเท่านั้น
สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงด้วยเหมือนกัน เพราะต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะดูดสารไนโตรเจนที่ค้างคาวขับถ่ายลงไปในหม้อ จากการตรวจสอบพบว่าใบฝา ของหม้อที่มีค้างคาวอาศัยอยู่นั้นมีไนโตรเจนมากกว่าใบที่ไม่มีค้างคาวอาศัยอยู่ถึง 13% และ 1 ใน 3 ของไนโตรเจนเหล่านี้มาจากมูลค้างคาว โดยการตรวจพบไอโซโทปของไนโตรเจนที่พบ
งานวิจัยนี้ช่วยไขข้อข้องใจของคุณ Moran ได้สำเร็จ แต่กลับสร้างความสงสัยให้แก่คุณ Aaron Ellison นักนิเวศวิทยาที่ศึกษาเกี่ยวกับพืชกินแมลงในป่าของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแทน เขามองว่าการติดตามเฉพาะค้างคาวที่อาศัยอยู่ในหม้อของต้นต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงนั้นไม่เพียงพอ และงานวิจัยนี้ให้ความสำคัญกับชนิดของต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงมากเกินไป
ภาพของค้างคาว และต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงดูได้จากที่มา
ที่มา: sciencemag
*ค้างคาวยอดกล้วยปีกใส สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยด้วย | https://jusci.net/node/1538 | ค้างคาวกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง |
หลังจากที่กราฟีนเขย่าวงการฟิสิกส์ด้วยการคว้ารางวัลโนเบล บัดนี้การปฏิวัิติอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ด้วยสปินทรอนิกส์ ด้วยวัสดุกราฟีนได้เริ่มต้นแล้ว
ด้วยความสามารถในการสร้างกราฟีนให้เป็นเส้นบางๆ (คล้ายๆ ปลาเส้น) และด้วยโครงสร้างที่เป็นรังผึ้งของกราฟีนนี่เองทำให้มันมีขอบอยู่สองแบบ คือ ซิกแซก (Zigzag) กับ อาร์มแชร์ (Armchair) ซึ่งขอบแบบอาร์มแชร์นี่เอง ทำให้ คุณ Alireza Saffarzadeh แห่งภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัย Payame Noor University ประสบความสำเร็จในการกรองสปิน (spin-filter) ซึ่งทำหน้าที่กรองกระแสสปินให้เหลือกระแสสปินแบบเดียว
ด้วยคุณสมบัิติดังกล่าว ในอนาคตเราอาจเห็น RAM ที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้นก็เป็นไ้ด้
ที่มา : PhysOrg.com | https://jusci.net/node/1539 | กรองสปินด้วยสปินฟิวเตอร์ |
ตั้งแต่นักดาราศาสตร์เริ่มใช้คำว่า "กาแล็กซี่" (galaxy) กันมา ยังไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่คำจำกัดความของมันจะถูกระบุไว้อย่างชัดเจน ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น นักดาราศาสตร์ค้นพบสิ่งใหม่ต่างๆ มากมายที่คำจำกัดความเดิมของ "กาแล็กซี่" ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ครอบคลุมไปถึง เช่น กลุ่มดาวแคระที่อยู่กันหนาแน่น (ultra compact dwarfs), กาแล็กซี่แคระทรงกลมที่จางมากๆ (ultra-faint dwarf spheroidal galaxies), กาแล็กซี่แคระวงรี (dwarf elliptical galaxies), กาแล็กซี่มืด (dark galaxy) ฯลฯ
นักดาราศาสตร์สองท่าน คือ Duncan Forbes และ Pavel Kroupa เห็นว่าปัญหาเรื่องหลักปักเขตของคำจำกัดความที่คลุมเครือทำให้นักดาราศาสตร์ต้องปวดหัวกันอยู่เสมอๆ ทั้งสองจึงจุดประเด็นตั้งคำถามขึ้นมาว่า "กาแล็กซี่คืออะไรกันแน่?"
คำจำกัดความของคำว่า "กาแล็กซี่" ในปัจจุบันมีหลากหลายแล้วแต่ว่าใครจะหยิบเอาอันไหนมาใช้และจะตีความไปในทางไหน แต่โดยทั่วไปมีหลักเกณฑ์สำคัญสองข้อที่ทุกค่ายยอมรับ นั่นคือ
สสารภายในกาแล็กซี่จะต้องยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงดึงดูดในบ่อศักย์ของกาแล็กซี่นั้นๆ กลุ่มวัตถุในอวกาศที่ลอยไปทางโน้นทีทางนี้ที เราไม่นับเป็นกาแล็กซี
กาแล็กซี่ต้องประกอบด้วยดาวฤกษ์ กาแล็กซี่มืดที่ไม่มีดวงดาวเลย เราก็ไม่นับ
ปัญหาคือพวกที่อยู่ตรงกลางระหว่างกาแล็กซี่กับอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่กาแล็กซี่ เช่น กาแล็กซี่แคระบางอัน, กลุ่มดาวแคระ เป็นต้น พวกนี้มีลักษณะตรงกับสองข้อข้างบนทุกประการ แต่พอพิจารณาดูลึกๆ มันก็ทำใจยากที่จะเรียกเหมารวมให้พวกมันเป็น "กาแล็กซี" ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดที่เล็กมากๆ, จำนวนดวงดาวที่น้อยนิด, หรือระบบดาวที่ง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อนเมื่อเทียบกับกาแล็กซี่ทั่วไป
Duncan Forbes และ Pavel Kroupa เห็นว่าเกณฑ์แค่สองข้อข้างต้นคงจะไม่พอเสียแล้ว พวกเขาทั้งสองเลยเสนอหลักการขึ้นมาอีก 5 ข้อโดยหวังว่าจะเป็นเกณฑ์ในการคัดกรองว่า "อะไรคือกาแล็กซี่และอะไรไม่ใช่กาแล็กซี่" ดังนี้
มี relaxation time (ระยะเวลาที่ใช้ในการกลับคืนสู่สมดุลหลังจากถูกรบกวน) มากกว่าอายุของเอกภพ
มี half-light radius (เมื่อสมมติให้กาแล็กซี่เป็นทรงกลม ปริมาณแสงครึ่งหนึ่งของแสงทั้งหมดที่ระบบเปล่งออกมาอยู่ในปริมาตรภายในที่มีรัศมีค่าหนึ่ง เรียกรัศมีนั้นว่า half-light radius) เกิน 100 pc
มีระบบประชากรดาวฤกษ์ที่ซับซ้อน
มีสสารมืด
มีระบบดาวฤกษ์ที่โคจรรอบซึ่งกันและกัน
แต่ว่าจะยัดทั้งห้าข้อเข้าไปในคำจำกัดความเลยก็กลัวนักดาราศาสตร์คนอื่นจะไม่ยอมรับ ครั้นจะไปงุบงิบสรุปกันเองแบบคราวพลูโตก็เกรงว่าจะเกิดมหากาพย์ขึ้นมาอีก ทั้งสองเลยตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชนด้วยการเปิดโพลรับความคิดเห็นให้ชาวโลกทุกคนเข้ามาช่วยกันโหวตที่ "What is a galaxy? Survey" ว่าจะเอาหลักเกณฑ์ข้อไหนเข้าไปอยู่ในคำจำกัดความของคำว่ากาแล็กซี่บ้าง (เสียดายเนอะ อดสนุกกันเลย มันน่าจะมีด่าทอต่อยตีกันก่อนแล้วค่อยไปทำโพล)
ทั้งสองสัญญาว่าจะนำผลการโหวตเข้ารายงานในที่ประชุมดาราศาสตร์นานาชาติครั้งต่อๆ ไป จนกว่าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ
ผมแนะนำว่าควรจะอ่านบทความ "What is a Galaxy? Cast your vote here..." ฉบับเต็มที่ arXiv.org ให้จบก่อนจะคลิกไปทำโพล การตัดสินใจของพวกเราทุกคนอาจส่งผลไปถึงอนาคตนักดาราศาสตร์รุ่นต่อไป ดังนั้นคิดให้รอบคอบสักหน่อยก็ดี
ที่มา - Popular Science | https://jusci.net/node/1540 | ตื่นเถิดชาวเรา... ถึงเวลาไปโหวตเพื่อกาแล็กซี่แล้ว |
ในประเทศไทยพอมีข่าวจะตั้งโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แว่วมาทีไร เห็นหลายคนวิตกกันไปใหญ่กลัวว่ามันจะมาตั้งใกล้บ้านตัวเอง ไม่แน่ว่าถ้าประเทศไทยถึงเวลาจะต้องมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาเป็นจริง มันอาจจะตั้งอยู่ใต้ทะเลก็ได้ เพราะบริษัท DCNS ของฝรั่งเศสได้พิสูจน์แล้วว่าโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใต้สมุทรเป็นเรื่องที่ทำได้จริง
เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้นแบบที่บริษัท DCNS พัฒนาขึ้นมานั้นมีชื่อว่า Flexblue ข้างในประกอบด้วยแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์, กังหันผลิตกระแสไฟฟ้า, และสายที่ส่งกระแสไฟฟ้ากลับขึ้นมาบนฝั่ง Flexblue แต่ละอันมีขนาดยาว 300 ฟุต กว้างไม่ถึง 50 ฟุต หนักประมาณ 12,000 ตัน ผลิตไฟฟ้าได้ 50 เมกะวัตต์
ดูรูปร่างและวิดีโอสาธิต Flexblue ได้จาก press release ของ DCNS (รูปร่างมันออกไปแนวๆ เรือดำน้ำ สงสัยเป็นเพราะ DCNS เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรือรบยุทธนาวี)
ที่มา - Discovery News | https://jusci.net/node/1541 | โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ใต้สมุทร |
โรค Huntington เป็นโรคทางระบบประสาทที่ส่งต่อทางพันธุกรรม และยังไม่มีทางรักษาจนทุกวันนี้ มันจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการควบคุมกล้ามเนื้อต่างๆ ไม่ได้และนำไปสู่ความเสื่อมถอยทางประสาทในที่สุด
ก่อนหน้านี้มีการศึกษาแล้วพบว่าเอนไซม์ Caspases ที่ทำลายเซลล์เมื่อถึงเวลามีส่วนสำคัญต่อโรค Huntington ที่แสดงผลเมื่อเซลล์ประสาทตายไปจำนวนหนึ่ง แต่ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Yale ได้แก่ดร. Lisa Ellerby, Jonathan Ellman ได้พบวิธีการหยุดการทำงานของ Caspases ผ่านทางโมเลกุลสามชนิด
การหยุดการทำงานของเอนไซม์ Caspases ไม่ใช่เรื่องดีเสมอไปเนื่องจากหลายๆ ระบบในร่างกายต้องการการทำลายเซลล์เมื่อถึงเวลา หากไม่สามารถทำลายเซลล์อย่างถูกต้องแล้วก็จะทำให้เกิดโรคเช่น เนื้องอกหรือโรคแพ้ภูมิตนเองขึ้นมาได้ แต่โมเลกุลทั้งสามที่งานวิจัยใหม่นี้เสนอขึ้นมามีความหวังว่ามันจะหยุดเอนไซม์เมื่อทำงานกับเซลล์ประสาทเท่านั้น ส่งผลให้สามารถหยุดโรค Huntington ได้โดยไม่ก่อโรคอื่นๆ ตามมา
การทดลองนี้ยังอยู่ในระดับจานเพาะเชื้อเท่านั้น โดยทีมงานสามารถหยุดการทำลายเซลล์ประสาทได้ และขั้นตอนต่อไปคือการทดลองในสัตว์มีชีวิต
โรค Huntington มีอัตราการพบอยู่ที่ 5-10 คนต่อประชากร 100,000 คน ถ้าใครเคยดูซีรี่ย์เรื่อง House ตัวละครหนึ่งที่เป็นโรคนี้คือ Thirteen
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1542 | วิธีการใหม่อาจเปิดทางรักษาโรค Huntington |
นักชีววิทยาเชื่อว่าบรรพบุรุษของม้าน้ำ (seahorse) มีร่างกายตรงๆ คล้ายกับปลาจิ้มฟันจระเข้ (pipefish) ในปัจจุบัน ภายหลังม้าน้ำจึงค่อยเปลี่ยนแปลงรูปร่างตัวเองให้โค้งๆ เอาหางม้วนพันกับพืชใต้น้ำ แต่เหตุผลที่ทำให้ม้าน้ำวิวัฒนาการรูปร่างนี้ขึ้นมายังเป็นคำถามที่คาใจนักวิทยาศาสตร์รวมทั้งคนที่สนใจม้าน้ำอีกหลายคน
ดร. Sam Van Wassenbergh แห่ง University of Antwerp ในประเทศเบลเยียม ได้ใช้กล้องความเร็วสูงถ่ายภาพวิดีโอขณะที่ม้าน้ำล่าเหยื่อเทียบกับปลาจิ้มฟันจระเข้ พบว่าขณะที่ม้าน้ำพุ่งปากขึ้นดูดเหยื่อที่ว่ายผ่านหัวมันนั้น ร่างกายที่โค้งงอของมันจะทำให้ปากเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยโดยอัตโนมัติ การเคลื่อนไหวลักษณะนี้ทำให้ม้าน้ำสามารถจับเหยื่อในระยะได้ไกลกว่าปลาจิ้มฟันจระเข้ที่มีร่ายกายเหยียดตรง
จากข้อสังเกตนี้ ดร. Sam Van Wassenbergh เลยสันนิษฐานว่าม้าน้ำน่าจะวิวัฒนาการร่างกายโค้งๆ มาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซุ่มล่าเหยื่อซึ่งสนับสนุนกับพฤติกรรมของม้าน้ำที่ชอบม้วนหางเกาะอยู่เฉยๆ คอยให้เหยื่อว่ายผ่านมาแล้วค่อยพุ่งปากไปจับกิน
เพราะฉะนั้นเลิกคิดกันได้แล้วนะว่าม้าน้ำม้วนตัวไว้ให้ปลาดาวขี่เล่น ^.^
ที่มา - BBC News | https://jusci.net/node/1543 | ทำไมม้าน้ำต้องม้วนหาง |
นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าเกลียวคู่ของ DNA สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้ แต่ทีมวิจัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยมิชิแกนและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ภายใต้การดูแลของ ศ. Hashim M. Al-Hashimi ได้พบว่าการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของ DNA สามารถเกิดขึ้นได้เองแม้จะไม่มีการรบกวนจากภายนอก แบบว่าอยู่ดีๆ นึกอยากจะเปลี่ยน มันก็ลุกขึ้นมาเปลี่ยนเองเลย
ทีมวิจัยนี้ใช้เทคนิค nuclear magnetic resonance (NMR) ในการศึกษารูปร่างของโครงสร้าง DNA พวกเขาพบว่าในบางขณะ DNA ปริมาณเล็กน้อยจะเข้าสู่สภาวะที่ถูกกระตุ้น (excited state) ได้เองเป็นระยะเวลาสั้นๆ (ประมาณ 1 มิลลิวินาที) ในสภาวะดังกล่าวคู่เบสในสาย DNA ช่วงสั้นๆ จะจับคู่กันในแบบที่เรียกว่า Hoogsteen base pair
อธิบาย Hoogsteen base pair แบบภาษาชาวบ้านคุยกับชาวบ้าน (ผมก็เพิ่งเคยได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก) ลองจินตนาการว่าโครงสร้าง DNA เป็นเหมือนเกลียวบันไดคู่ น้ำตาลกับฟอสเฟตต่อกันเป็นราวบันได และมีคู่เบสจับคู่กันอยู่ตรงกลางเป็นขั้นบันได อันนี้คือโครงสร้างของ DNA ปกติตามแบบจำลองของ Watson-Crick คราวนี้สมมติว่าเราจับเบสตัวหนึ่งในคู่เบสที่เป็นขั้นบันไดนั้นบิดกลับ 180 องศาในแนวตั้ง แล้วจับมันประกบกับคู่ของมัน นั่นแหละคือ "Hoogsteen base pair" และเนื่องจากว่ารูปร่างโมเลกุลของเบสไม่ได้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมทื่อๆ พอจับมันบิดกลับด้านแบบนั้น เกลียวบันไดของเราก็จะบิดเบี้ยวไปด้วย
นักวิทยาศาสตร์สงสัยว่า หาก DNA มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ด้วยธรรมชาติของตัวมันเองแล้ว ก็อาจเป็นได้ว่าการเกิด Hoogsteen base pair มีผลต่อการควบคุมลักษณะทางพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตด้วย ซึ่งถ้าเรื่องนี้เป็นจริง ผมก็ขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับนักเรียนนักศึกษาที่ยังต้องเรียนชีววิทยา นักวิทยาศาสตร์หาเรื่องมาให้พวกคุณต้องเรียนเพิ่มกันอีกแล้ว ^.^
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1544 | นักวิทยาศาสตร์เจอ DNA สับขาหลอก |
คำแนะนำนี้เป็นของชาวเรือในสมัยโบราณ และมันก็ได้ผลจริงเสียด้วย
คุณ Thomas A. Stoffregen แห่งมหาวิทยาลัยมินิโซต้า และเพื่อนร่วมทีมของเขา กำลังศึกษาถึงเรื่องการแกว่งของร่างกาย เพื่อหาสาเหตุว่า อะไรกันแน่ที่ทำให้เราเกิดอาการป่วยจากการเคลื่อนไหว หรือที่เราเรียกว่า เมารถ เมาเรือ
เขาแบ่งการทดลองออกเป็น 2 ส่วน คือ บนพื้นดิน โดยให้อาสาสมัครยืนนิ่ง ๆ แล้วการเคลื่อนย้ายไปหน้าถอยหลังเป็นระยะทาง 4 ซ.ม. ทุก ๆ 12 - 15 วินาที และบนเรือโดยขอความร่วมมือจากนักมหาสมุทรวิทยา เพื่อขอใช้เรือของพวกเขา ในการทดลองแต่ละส่วนจะบังคับให้อาสาสมัครยืนอยู่บนจุดที่กำหนด แล้วให้จ้องมองไปยังวัตถุในระยะ 16 นิ้วกับ ภูเขา หรือเส้นขอบฟ้า ผลการทดลองคือ ถ้ายืนอยู่บนพื้นดิน มองวัตถุในระยะใกล้จะรู้สึกมั่นคงกว่า แต่ถ้าอยู่บนเรือมองเส้นขอบฟ้าจะรู้สึกมั่นคงมากกว่า
มันดูเหมือนจะขัดกับความเป็นจริงอยู่บ้าง ในขณะที่อยู่บนเรือคุณต้องปรับตัวเองตามการแกว่งของเรือไม่เช่นนั้นคุณจะล้ม แต่ทำไมการจ้องมองเส้นขอบฟ้าถึงทำให้รู้สึกดีกว่า คุณ Stoffregen คิดว่า "คงเพราะมันจะช่วยให้ร่างกายแยกความแตกต่างของสาเหตุของการแกว่งว่าเกิดขึ้นจากไหน จากตัวคุณเอง หรือเกิดจากเรือ"
และเขาก็คิดว่า การแกว่งของร่างกายทำให้เกิดอาการเมา ทว่าการล่องเรือคราวนี้ ไม่มีลูกเรือคนไหนเมาเรือเลยสักคน แต่เขาหวังว่า จะได้ทำการวิจัยนี้ตอนที่เรือเต็มไปด้วยนักศึกษาของภาควิชามหาสมุทรวิทยา ที่ต้องขึ้นเรือเป็นครั้งแรกให้ได้
โอ้ นักศึกษาผู้น่าสงสาร...
ที่มา: APS | https://jusci.net/node/1545 | ถ้าคุณรู้สึกเมาเรือจงมองที่เส้นขอบฟ้า |
ทหารบางส่วน หลังจากกลับมาจากการปฏิบัติหน้าที่ในสงคราม มักจะมีเครียดผิดปกติจากความเครียดเนื่องจากเรื่องสะเทือนใจ (Post-Traumatic Strees Disorder) การผลสำรวจพบว่า ทหารที่ถูกส่งตัวไปยังอิรัก และอัฟกานิสถานมีประมาณ 20 - 30% ที่มีอาการ PTSD หลังจากกลับมา
อาการของ PTSD คือ ฝันร้าย มักหวนระลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงสงคราม อารมณ์เฉยชา ระแวดระวังภัยมากเกินไป แม้อาการพวกนี้จะส่งผลดีในขณะอยู่ในสงคราม แต่ไม่ดีเลยกับการใช้ชีวิตอย่างคนปกติ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีอาการ PTSD มักจะมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากคนปกติ
ก่อนหน้านี้การจะรักษาอาการ PTSD นักจิตบำบัดจะให้ผู้ป่วยจิตนาการถึงภาพ หรือเหตุการณ์ที่พวกเขารู้สึกสะเทือนใจ เพื่อเป็นการรักษา แต่ผู้ป่วยหลายคนมักจะหลีกเลี่ยง ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของ PTSD เหมือนกัน ทางคุณ อัลเบิร์ต ริซโซ (Albert Rizzo) แห่งมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย จึงได้ทดลองการบำบัดแบบใหม่โดยการใช้เกมขึ้นมา แม้มันจะดูแปลกสักหน่อยที่ส่งผู้ป่วยที่มีความเครียด ความวิตกกังวลสูง ไปเผชิญหน้ากับสิ่งที่สะเทือนใจพวกเขาอีก แต่นักวิจัยกลับพบว่า การทำเช่นนั้นจะไปเพิ่มระดับความวิตกกังวลของผู้ป่วยไปถึงระดับกลาง กระตุ้นให้ผู้ป่วยคิด และพูดถึงเหตุการณ์ที่เคยสร้างบาดแผลในจิตของเขา และมันจะช่วยลดความวิตกกังวล และลดอาการ PTSD ลงได้อีกด้วย
เกมที่ว่าเป็นเกมเสมือนจริงชื่อ Virtual Iraq และ Virtual Afghanistan ซึ่งพัฒนามาจากเกม X-Box ชื่อ Full Spectrum Warrior โดยตัวเกมจะส่งภาพไปยังจอที่ติดอยู่กับศีรษะ ที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวของศีรษะ เพื่ออัพเดทภาพตามการเคลื่อนไหวนั้น ใช้ระบบเสียงสมจริง แล้วยังมีอุปกรณ์สร้างกลิ่นอย่างเช่น กลิ่นดินปืน กลิ่นน้ำมันดีเซล กลิ่นยางไหม้ หรือแม้แต่กลิ่นเครื่องเทศต่าง ๆ และยังมีระบบสร้างแรงสะเทือนในกรณีที่เกิดการระเบิดได้อีกด้วย
หลังจากทดลองบำบัดด้วยการใช้เกมเสมือนจริงในทหาร 20 นาย พบว่ามี 16 นายที่ไม่พบอาการ PTSD อีกหลังจากการบำบัด
ที่มา: PhysOrg | https://jusci.net/node/1546 | ใช้เกมรักษาอาการผิดปกติจากเรื่องสะเทือนใจ |
รหัสพันธุกรรมที่อยู่บนสาย DNA เขียนขึ้นด้วยเบส 4 ชนิด คือ adenine (A), guanine (G), thymine (T), และ cytosine (C) เรียงกันเป็นคำๆ (mRNA ตรง thymine จะแทนที่ด้วย uracil หรือ U) แต่ละคำจะเรียกว่า codon ประกอบด้วยความยาว 3 เบส แต่ละ codon แทนค่าเป็นหนึ่งในกรดอะมิโน 20 ตัวรวมทั้งรหัสหยุด (stop codon)* อีก 3 ตัว
ถ้ามาคำนวณกันเล่นๆ รูปแบบที่เป็นไปได้ทั้งหมดของการเรียงเบส 4 ขนิดติดกัน 3 ตัว คือ 64 รูปแบบ จะเห็นว่าเลข 64 มากกว่า 20 ตั้งสามเท่ากว่าๆ แหนะ ฉะนั้นคงพอเดากันได้แล้วสินะว่า กรดอะมิโนส่วนใหญ่จะถูกแทนค่าได้มากกว่า 1 codon ขึ้นไป** เช่น GCU, GCC, GCA, GCG แทน Alanine หรือ ACU, ACC, ACA, ACG แทน Threonine เป็นต้น
ในเมื่อเลขมันไม่ลงตัวพอดีกันเป๊ะๆ เช่นนี้ มีใครสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่า แล้วทำไมธรรมชาติจึงเลือกเลขชุดนี้ขึ้นมาสร้างเป็น "genetic code"? ทำไมต้องมีเบส 4 ชนิด? ทำไมต้องเรียงกัน 3 ตัว? ทำไมใช้แทนค่ากรดอะมิโน 20 ชนิด? ทำไมต้อง 3-4-20? (กลับบนล่าง, แทงเต็ง-แทงโต๊ดกันเองนะ แทงผิด ผมไม่เกี่ยว แต่ถ้าถูก แบ่งผมด้วย ^.^) มันจะน่าทึ่งเข้าไปอีกถ้าคุณได้ทราบว่าสิ่งมีชีวิตทั่วโลกใช้รูปแบบ 3-4-20 นี้ให้การเข้ารหัสและถอดรหัสเหมือนกันหมด (การแทนค่าของรหัสก็เหมือนกันแทบทั้งหมด ยกเว้นสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดที่แปลรหัสบางตัวต่างออกไป รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ genetic code ใน Wikipedia)
ไม่ว่าคุณจะสงสัยหรือไม่ วิทยาศาสตร์ก็มีคำอธิบายแบบต่างๆ ไว้ให้คุณ แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็ยังไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ที่ทุกคนยอมรับ มันขึ้นอยู่กับว่าใครพอใจคำอธิบายแบบไหน มันก็เหมือนกับการขูดเลขขอหวยนั่นแหละ ใครพอใจเลขไหนก็แทงเลขนั้น (ย้ำอีกที ถ้าถูกงวดนี้ แบ่งผมด้วย)
คำอธิบายอย่างแรก คือ “ก็มันเป็นของมันแบบนี้”
ย้อนไปตั้งแต่สมัยที่เราเพิ่งรู้โครงสร้าง DNA ใหม่ๆ Franncis Crick หนึ่งในสองผู้ร่วมค้นพบโครงสร้าง DNA (อีกคนคือ James D. Watson) เคยให้ความเห็นไว้ว่าเลขชุดนี้ คือ "ความบังเอิญแช่แข็ง" (frozen accident) มันเหมือนกับประเพณีที่เผอิญว่าเซลล์เริ่มแรกเลือกทำแบบนี้แหละ และรุ่นต่อไปๆ ก็คงประเพณีไว้อย่างนั้นเหมือนถูกแช่แข็งในกาลเวลา จบข่าว...
คำอธิบายแรกจบแค่นี้จริงๆ กำปั้นทุบดินกันแบบนี้เลยแหละ
แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่ามันจะเป็นเรื่องบังเอิญแบบที่ Francis Crick คิด เพราะถ้าสังเกตจากรหัส codon ที่แทนกรดอะมิโนตัวเดียวกัน จะเห็นว่าส่วนใหญ่ต่างกันแค่เบสตัวที่ 3 ซึ่งหมายความว่าหากเกิดการกลายพันธุ์***ที่เบสตัวที่ 3 พอแปลรหัสออกมาก็ยังได้กรดอะมิโนตัวเดิม หรือต่อให้มีการกลายพันธุ์จนแปลผิดไปเลย ส่วนใหญ่โปรตีนที่ได้ก็ยังจะมีคุณสมบัติคล้ายกับโปรตีนก่อนเกิดการกลายพันธุ์ เซลล์เริ่มแรกบังเอิญเลือกโดนเอารูปแบบที่โชคช่วยสวรรค์บันดาลขนาดนี้มาได้อย่างไร? จากการคำนวณของทีมวิจัยที่นำโดย Peter Clote รูปแบบ genetic code ทั้งหมดที่เป็นไปได้ของการจับคู่ codon 64 แบบ กับกรดอะมิโน 20 ตัว คือ 1,084 รูปแบบ
มันจะบังเอิญว่าบรรพบุรุษของเราเลือกมา 1 จาก 1,084 รูปแบบ แล้วโป๊ะเชะ ใช้ได้เลย ง่ายๆ กันแบบนี้เลยหรือ? (อย่าลืมว่า genetic code เหมือนกันหมดแทบทั้งโลก ฉะนั้นถ้าเป็นการเลือกสุ่มยกชุด มันจะต้องเป็นการเลือกเพียงครั้งเดียวโดยเซลล์ต้นแบบอันเดียว)
ดังนั้นคนที่ไม่พอใจกับคำอธิบายแบบแรกก็คิดหาคำตอบอื่นๆ ต่อไป
คำอธิบายที่สอง “นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด”
Tsvi Tlusty นักฟิสิกส์จาก Weizmann Institute of Science ในประเทศอิสราเอล คิดว่ารูปแบบ genetic code ที่เราเห็นกันทุกวันนี้จะต้องเป็นผลจากกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ (natural selection) เขาเสนอว่าสิ่งที่เป็นแรงกดดันของวิวัฒนาการ "ภาษาพันธุกรรม" มี 3 อย่างคือ
1. ถ้าหากมีการสะกดคำผิด เช่น "เย็น" เป็น "เย็บ" หรือ "เย็..." (เซ็นเซอร์) ความเสี่ยงที่จะได้ความหมาย (โปรตีน) ที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ต้องต่ำ
2. คำในภาษา "พันธุกรรม" จะต้องมีความหมายหลากหลายครอบคลุมการทำงานต่างๆ ของเซลล์
3. ภาษานี้จะต้องไม่ใช้ทรัพยากรในการสะกดคำและแปลความหมายมากเกินจำเป็น กิจกรรมทุกอย่างในเซลล์มีต้นทุน ไม่มีอะไรในโลกได้มาฟรีๆ
เมื่อลองเอาไปเทียบกับปัญหาคลาสสิคของทางภูมิศาสตร์ที่ถามว่า "ต้องใช้สีอย่างน้อยที่สุดกี่สีจึงจะเขียนแผนที่โลกได้โดยไม่มีประเทศใดที่อยู่ติดกันใช้สีซ้ำกันเลย?" ถ้าเป็นในแผนที่สองมิติ คำตอบคือ "4 สี" แต่ถ้าเป็นแผนที่มากกว่าสองมิติขึ้นไป คำตอบจะเพิ่มเป็น "20-25 สี" ซึ่งนั่นก็ตรงกับจำนวนกรดอะมิโน 20 ตัวที่ใน genetic code พอดี (กรดอะมิโนเป็นคำสามัญหมายถึงสารประกอบอินทรีย์ที่มีหมู่คาร์บอกซีลิกและหมู่อะมิโนอยู่ในโมเลกุลเดียวกัน แต่กรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบของโปรตีนมีเพียง 22 ชนิดเท่านั้น ในจำนวนนี้มี 20 ชนิดที่มีรหัสแปลใน genetic code อ่านเพิ่มเติมจากบทความ Proteinogenic amino acid ใน Wikipedia)
เมื่อ Tsvi Tlusty ลองสร้างแบบจำลองโดยใช้สมมติฐาน 3 ข้อที่เสนอไปข้างต้น ก็พบว่า ชุดเลข "เบส 4 ชนิด เรียงกัน 3 ตัว แทนกรดอะมิโน 20 ชนิด" หรืออะไรที่ใกล้เคียงกันประมาณนี้ เป็นรูปแบบที่เข้ากับแรงกดดันทั้งสามได้ดีที่สุด ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป
อย่างไรก็ตาม Eugene Koonin นักชีววิทยาโมเลกุลแห่ง National Center for Biotechnology Information in Bethesda ไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อสรุปแบบนี้เท่าไร เขายอมรับว่า genetic code ที่ใช้กันอยู่นี้น่าจะเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดแล้วเท่าที่สิ่งมีชีวิตจะสร้างได้ แต่มันจะเป็นผลจากการแข่งขันระหว่าง “สิ่งที่เหมาะสมมากกว่า” และ “สิ่งที่เหมาะสมน้อยกว่า” แบบในการคัดเลือกตามธรรมชาติจริงหรือ? เขาคิดว่าถ้าการคัดเลือกตามธรรมชาติเป็นไปตามรูปแบบนี้จริง ทำไมเราถึงไม่เห็นความแปรผันของรูปแบบนี้หลงเหลืออยู่เลย ทำไมไม่มีสิ่งมีชีวิตที่ใช้เบส 5 ชนิด เรียงกัน 2 ตัว แทนกรดอะมิโนสัก 18 ชนิด หรืออะไรสักอย่างที่ใกล้เคียงตัวเลข 3-4-20
และนั่นก็นำไปสู่คำอธิบายที่สาม
คำอธิบายที่สาม “นับหนึ่งถึงยี่สิบ”
ทีมวิจัยของ Eugene Koonin เชื่อว่าสิ่งมีชีวิตไม่น่าจะรับกรดอะมิโนเข้ามาอยู่ใน genetic code รอบเดียว 20 ตัวเลย เป็นไปได้ว่าตอนแรกอาจจะมีแค่ 16 ตัวหรือน้อยกว่า และแทนที่ด้วย codon ของเบส 4 ชนิดเรียงกันแค่ 2 ตัว (4 ยกกำลัง 2 เท่ากับ 16 พอดี) ต่อมาหน้าที่ของเซลล์ซับซ้อนขึ้น ฐานกรดอะมิโนสูงสุดแค่ 16 ตัวรองรับความหลากหลายของหน้าที่ไม่ไหว ก็เลยเพิ่มกรดอะมิโนเข้าไปใน genetic code อีก เลยต้องเพิ่มความยาว codon เป็น 3 ตัว พอเพิ่มเข้าไปแล้วมีตัวเลือกเหลือเฟือ ตัวไหนคล้ายๆ กันก็ใช้ซ้ำกันไปบ้าง ดีซะอีกจะได้เผื่อผิดเผื่อพลาดด้วย
ปัญหาต่อมาคือ "กรดอะมิโนตัวแรกที่เข้ามาอยู่ใน genetic code ได้แก่ตัวไหนบ้าง" นักวิทยาศาสตร์คิดว่ากรดอะมิโนที่เข้ามาเป็นตัวแรกๆ ต้อง 1) เกิดขึ้นมาก่อนกรดอะมิโนตัวอื่นๆ และ 2) เกาะกับ RNA ได้ดี เหตุที่ต้องเกาะกับ RNA ได้ดีเพราะว่ามันมีทฤษฎีหนึ่งบอกไว้ว่า RNA นี่แหละคือต้นกำเนิดของการควบคุมและการถ่ายทอดข้อมูลรหัสพันธุกรรม (เอาเข้าไป! นี่แหละงานของนักวิทยาศาสตร์ ตั้งทฤษฎีขึ้นมาซ้อนอีกทฤษฎี เหมือนกับ “ปั้นน้ำบนประสาททรายที่สร้างอยู่ในอากาศ” ยังไงยังงั้น)
ทีมวิจัยที่นำโดย Michael Yarus แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโด ได้ทดลองเอากรดอะมิโน 8 ชนิดเคลือบไว้บนผนังหลอดทดลอง แล้วล้างด้วยสารละลายที่มี RNA สายสั้นๆ เจือปนอยู่ ผลปรากฏว่ากรดอะมิโนแต่ละชนิดมีรูปร่างที่พอดีกับ "ช่องรับ" ที่แตกต่างกันไปบนสาย RNA แม้ว่าการจับคู่จะไม่ได้เหนียวแน่นอะไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือ "ช่องรับ" ของ RNA ที่มีลำดับเบสตรงกับรหัส codon กรดอะมิโนชนิดใดใน genetic code ก็จะจับกับกรดอะมิโนชนิดนั้นได้ดีกว่า นี่เป็นหลักฐานที่สนับสนุนได้ว่าแรงทางเคมีมีผลในการคัดเลือกกรดอะมิโนเข้าสู่ genetic code เป็นไปได้ว่าอย่างต่ำสามในสี่ของกรดอะมิโน 20 ตัวจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ใน genetic code ก็เพราะมันยึดกับ RNA ได้ดีนี่แหละ
จากการทดลองอันโด่งดังของ Stanley Miller ในปี 1953 ที่เขาผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปในโถแก้วที่มีก๊าซไฮโดรเจน, ก๊าซมีเธน, แอมโมเนีย, และไอน้ำ แล้วเกิดกรดอะมิโนขึ้นจำนวนหนึ่ง กรดอะมิโนที่เกิดขึ้นแทบทุกครั้ง ได้แก่ glycine, alanine, aspartic acid, glutamic acid และ valine ซึ่งกรดอะมิโนทั้งห้านี้ก็พบในอุกกาบาตที่ตกกระทบทวีปออสเตรเลียในปี 1969 ด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากรดอะมิโนตัวแรกที่เข้าไปอยู่ใน genetic code ต้องอยู่ในห้าตัวนี้แหละ เพราะดูแล้วมันน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติได้มากที่สุด (ข้อสังเกตคือกรดอะมิโนทั้งห้ามีรหัสใน genetic code ขึ้นต้นด้วย G หมดเลย)
นี่คือคำตอบสุดท้ายแล้วหรือ? เปล่าเลย กฏอย่างไม่เป็นทางการของวิทยาศาสตร์บอกไว้ว่า "คำตอบของคำถามจะนำไปสู่คำถามต่อไปเสมอ"
คำถามต่อไปในที่นี้คือ “แล้ว RNA มาจุ้นจ้านทำหน้าที่เลือกกรดอะมิโนได้อย่างไร?” ในกระบวนการของสิ่งมีชีวิต องค์ประกอบที่ทำหน้าที่แทบทุกอย่างในเซลล์คือโปรตีน แม้แต่การสร้าง DNA และ RNA ก็ต้องอาศัยโปรตีน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าตอนแรกสิ่งมีชีวิตใช้โปรตีนทั้งการทำกิจกรรมต่างๆ ในเซลล์และการเก็บข้อมูลพันธุกรรม ต่อมาจึงใช้ RNA เก็บข้อมูลแทนที่โปรตีนและสุดท้ายจึงไปลงที่ DNA เพราะเสถียรกว่า ดังนั้นถ้า RNA เป็นตัวคัดเลือกว่าจะเอากรดอะมิโนอะไรไปสร้างโปรตีนแล้ว โปรตีนที่สิ่งมีชีวิตใช้สร้าง RNA ในตอนแรกมาจากไหน คำถามนี้ยิ่งกว่า “ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน” เสียอีก
เพื่อจะหาว่าไก่ตัวไหนเป็นตัวแรกที่ออกลูกเป็นไข่ หรือไข่ใบไหนที่ฟักเป็นไก่ตัวแรก นักวิทยาศาสตร์ต้องมองหาโปรตีนและ RNA ที่เก่าแก่ที่สุด หรือจะเรียกว่าเป็น “คู่ของโปรตีนและ RNA ที่เป็นบรรพบุรุษของโปรตีนและสารพันธุกรรมทั้งมวลในสิ่งมีชีวิต” ก็ได้ ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลเลย Loren Williams นักชีวเคมีจาก Georgia Institute of Technology ได้มองเข้าไปยัง “ไรโบโซม” (ribosome) ซึ่งออร์แกเนลล์ที่เซลล์ทุกเซลล์มี เพราะมันคือเครื่องจักรในการสร้างโปรตีนนั่นเอง
ในไรโบโซม โปรตีนจะจับกับ rRNA (RNA ในไรโบโซมเรียกว่า rRNA) เพื่อทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีนจากกรดอะมิโนตามแบบแผนที่ร่างไว้ใน mRNA (ข้อมูลจาก mRNA ก็คัดลอกเอามาจาก DNA อีกต่อหนึ่ง) ถ้าทฤษฎีที่บอกว่า RNA เป็นตัวเลือกกรดอะมิโนเข้าสู่ genetic code เป็นจริง มันก็เป็นไปได้ว่าโปรตีนและ rRNA ที่อยู่ในไรโบโซมนี่แหละ คือ ทายาทที่สืบเชื้อสายตรงมาจากบรรพบุรุษคู่แรก หรือดีไม่ดี มันอาจเป็นร่างก็อปปี้ของ “คู่บรรพบุรุษ” ที่จำลองตัวเองผ่านกาลเวลามานับพันล้านปีเองเลยก็ได้
สิ่งที่ Loren Williams อ้างว่าเป็น RNA ที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ rRNA ส่วนหนึ่งในไรโบโซมที่มีพันธะจับกับสาย rRNA ข้างเคียงหนาแน่นกว่า rRNA อื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด อันนี้เทียบกับจากตรรกะที่ว่า “ถ้าคุณเข้าสังคมก่อน คุณก็ควรจะมีเพื่อนมากกว่าคนที่เข้าสังคมทีหลัง” (นึกถึงคนที่เล่น Facebook มาก่อนก็ควรจะมีเพื่อนมากกว่าคนที่เพิ่งเล่น กรณีนี้คงต้องยกเว้น Facebook ของคนดังหรือสาวน่ารักๆ – ซึ่งถ้าใครมีอย่างหลังส่งต่อมาให้ผมด้วย อย่ากั๊ก) และจากการศึกษาของทีมวิจัยที่นำโดย Loren Williams พบว่า โปรตีนที่จับ rRNA ส่วนดังกล่าวมีส่วน “หาง” เฉพาะที่ประกอบด้วย glycine กับ alanine
ดังนั้นจะสรุปได้เลยหรือไม่ว่า glycine และ alanine คือกรดอะมิโนตัวแรกที่ส่ิงมีชีวิตรับเข้ามาอยู่ใน genetic code?
คำตอบคือ ยังไม่ได้
ตอนนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กำลังรอ คือ หลักฐานอีกทางที่จะมายืนยันการค้นพบนี้ อย่าลืมว่านี่เป็นการสืบสวนจากมุมมองของ “RNA ที่เก่าแก่ที่สุด” เท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึง “โปรตีนที่เก่าแก่ที่สุด” เลย
Eric Gaucher นักชีววิทยาจาก Georgia Institute of Technology อีกเช่นกัน มีความคิดที่จะพิสูจน์จากทางโปรตีน เขาได้พยายามที่จะสร้างโปรตีนที่เก่าแก่ที่สุดขึ้นมาอีกครั้งโดยอาศัยข้อมูลจากโปรตีนที่พบในสิ่งมีชีวิตต่างๆ และกรดอะมิโนที่ค้นพบในอุกกาบาต เท่าที่ทราบล่าสุด ความพยายามของทีมวิจัยที่นำโดย Eric Gaucher ยังไม่ถึงขั้นที่จะประกาศความสำเร็จได้
Stephen Freeland แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาย แสดงความเห็นว่าหากโปรตีนที่ Eric Gaucher สร้างได้เป็นโปรตีนที่เขียนได้ด้วยรหัส codon ที่ขึ้นต้นด้วย G และสามารถจับกับ RNA ได้ดี ก็อาจจะเป็นไปได้ว่ามันคือ “โปรตีนที่เก่าแก่ที่สุด” จริง หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง และมันจะเป็นหลักฐานชิ้นเยี่ยมที่สนับสนุนว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์คิดมาก่อนหน้านี้ถูกต้อง แต่ถ้าหากไม่เป็นตามนี้ ทุกอย่างต้องนับหนึ่งใหม่อีกรอบ...
...หรือไม่ก็แทงไปเลยว่า “มันเป็นของมันแบบนี้” แบบที่ Francis Crick บอก
จบข่าว (คราวนี้จบจริงๆ)
แปลและเรียบเรียงจากบทความ Alphabet of Life ในเว็บ Science News
*รหัสหยุด (stop codon) เป็นรหัสบนสาย mRNA ที่กำหนดว่าเมื่อกระบวนการ Translation (การแปลรหัสจาก mRNA เป็นโปรตีน) อ่านมาถึงจุดนี้ ก็ให้หยุดกระบวนการทันที
**ลักษณะที่กรดอะมิโนตัวหนึ่งแทนค่าด้วย codon ได้หลายรหัส เรียกว่า "degeneracy of genetic code"
***หลายคนอาจจะคิดว่า "การกลายพันธุ์" (mutation) ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่แสดงออกทางสรีรวิทยา ทางสัณฐานวิทยา หรือทางชีวเคมีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ในทางชีววิทยาแล้วคำว่า "mutation" มีความหมายกว้างมาก โดยรวมๆ จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงลำดับเบสบน DNA (ถ้าเป็นไวรัสบางชนิดก็ RNA) แค่เบสเปลี่ยนไปหนึ่งตัวก็นับเป็น mutation แล้ว เรียกว่า "point mutation" | https://jusci.net/node/1547 | ไขปริศนา "กำเนิดรหัสแห่งชีวิต" |
"ฟิวชันเย็น" (cold fusion) หมายถึงกระบวนการนิวเคลียร์ฟิวชัน (nuclear fusion) ในอุณหภูมิต่ำๆ เช่น อุณหภูมิห้อง ฟิวชันเย็นต่างจากกระบวนการฟิวชันที่เกิดใจกลางของดาวฤกษ์ซึ่งต้องมีอุณหภูมิสูงเป็นล้านๆ องศาขึ้นไป เมื่อประมาณ 20-30 ปีที่แล้ว ฟิวชันเย็นเคยเป็นข่าวโด่งดังขึ้นมา เนื่องจากมีนักวิทยาศาสตร์สองคน คือ Stanley Pons และ Martin Fleishmann อวดอ้างว่าค้นพบวิธีเหนี่ยวนำให้เกิดฟิวชันได้ที่อุณหภูมิห้อง แต่พอนักวิทยาศาสตร์คนอื่นทดลองซ้ำตามวิธีที่อ้าง กลับไม่เกิดผลใดๆ แบบที่ทั้งสองคนรายงาน
ตั้งแต่นั้นมา "ฟิวชันเย็น" ก็ถูกขึ้นบัญชีดำ เป็น เรื่องโกหกหลอกลวงที่ขัดกับหลักทฤษฎี
แต่เรื่องฟิวชันเย็นก็ยังเป็นเรื่องสนใจของใครอีกหลายคน เนื่องจากหากทำได้จริง มนุษยชาติจะมีแหล่งพลังงานใหม่ที่สะอาดให้ใช้กันไม่รู้จบรู้สิ้น คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคนที่คิดได้สำเร็จจะได้ลาภยศชื่อเสียงมหาศาลขนาดไหน
ไม่กี่สัปดาห์ที่แล้วนี่เอง ข่าวฟิวชันเย็นก็กลับคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีสองคนชื่อว่า Andrea Rossi และ Sergio Focardi แห่งมหาวิทยาลัยโบโลญญ่า อ้างว่าพวกเขาสร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันเย็นได้สำเร็จ ยิ่งไปกว่านั้นขณะนี้เคร่ืองที่ว่าได้ผ่านขั้นตอนการวิจัยเรียบร้อยแล้วด้วย และกำลังเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ไม่เกินสิ้นปี 2011 นี้ก็วางขายได้เลย
ตามคำบรรยายของ Andrea Rossi และ Sergio Focardi เครื่องปฏิกรณ์ประกอบด้วยนิวเคลียสของนิกเกิลและไฮโดรเจน เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป 1,000 วัตต์เป็นช่วงสั้นๆ แล้วลดลงเหลือ 400 วัตต์ ไฮโดรเจนเพียงแค่ 1 กรัมจะให้พลังงานมากพอที่จะต้มน้ำ 292 กรัมที่อุณหภูมิ 20oC ให้เดือดได้ หรือคิดเป็นพลังงานประมาณ 12,400 วัตต์ กากที่ได้จากปฏิกิริยานี้มีเพียงทองแดงกับกัมมันตรังสีเท่านั้น ซึ่งกัมมันตรังสีก็ไม่มีอันตราย เพราะหลังจากที่ปิดเครื่อง มันก็จะถูกผนังตะกั่วดูดซับไปหมด
ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริงใช่มั้ย?
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็สงสัยคำอ้างของทั้งสองคนเหมือนกัน ผลงานของพวกเขาทั้งสองถูกปฏิเสธจากวารสารวิชาการแบบ peer-reviewed journal แทบทุกที่ แต่ได้รับการตีพิมพ์ลงใน Journal of Nuclear Physics ซึ่งวารสารนี้เป็นวารสารออนไลน์ที่ก่อตั้งโดย Andrea Rossi และ Sergio Focardi เอง!
หลังจากที่ทั้งสองคนเปิดแถลงข่าวเรื่องนี้ต่อสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ก็ระดมคำถามกันจนแทบนับกันไม่ทัน ผ่านทางบล็อกบ้าง เว็บฟอรัมบ้าง "นิวเคลืยสทองแดงที่เกิดขึ้นเป็นไอโซโทปตัวไหน?", "รายละเอียดกระบวนฟิวชันที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร?", "ใช้เครื่องมืออะไรในการตรวจจับกัมมันตรังสี", "มีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นทดลองซ้ำหรือยัง?"
จนป่านนี้ยังไม่มีคำตอบที่น่าพอใจหลุดออกมาจากปากของทั้ง Andrea Rossi และ Sergio Focardi สิ่งเดียวที่พวกเขายืนกระต่ายขาเดียวตอบคือ "ทองแดงและกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นคือหลักฐานว่ามีปฏิกิริยานิวเคลียร์"
Steven B. Krivit แห่ง New Energy Times ได้ไปขุดค้นประวัติของทั้งสองออกมาแฉว่า Andrea Rossi เคยมีคดีความยักยอกภาษีและนำเข้าทองคำผิดกฏหมาย ซึ่งทำให้ความน่าเชื่อถือของฟิวชันเย็นน้อยลงไปอีก นอกจากนี้คำร้องขอจดสิทธิบัตรที่ Andrea Rossi และ Sergio Focardi ยื่นไปก็ถูกปฏิเสธด้วยเช่นกัน ในรายงานการปฏิเสธมีข้อความบ่งบอกว่า "สิ่งประดิษฐ์ของทั้งสองขัดกับกฏและทฤษฎีทางฟิสิกส์พื้นฐาน ขาดหลักฐานที่เชื่อถือได้รองรับ"
แต่ Giuseppe Levi นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์จาก INFN (Italian National Institute of Nuclear Physics) ก็ออกมาช่วยปกป้องโดยอ้างว่าเครื่องปฏิกรณ์อันหนึ่งที่ Andrea Rossi และ Sergio Focardi พัฒนาขึ้นมาสามารถใช้งานได้จริง และขณะนี้ก็เดินเครื่องต่อเนื่องมานานถึงสองปีแล้ว จุดสังเกตคือ Giuseppe Levi คนนี้ได้ร่วมเป็นแม่งานจัดงานแถลงข่าวให้กับคนทั้งสองด้วย
ตามความเห็นส่วนตัว ผมให้ข่าวนี้ 4 จีทีสองร้อย ขอหักหนึ่งคะแนนเนื่องจากมีคนเคยใช้มุขนี้แล้ว ไม่ใช่มุข original
ที่มา - PhysOrg
ชมวิดีโองานแถลงข่าวและหน้าตาของ "เครื่องฟิวชันเย็น" ได้ข้างล่าง | https://jusci.net/node/1548 | เอาอีกแล้ว! นักวิทยาศาสตร์อิตาลีอ้างว่าทำ "ฟิวชันเย็น" ได้ |
หลายคนคงยังจำมิวสิควิดีโอ Large Hadron Rap กันได้ และถ้าคุณชอบให้นักวิทยาศาสตร์มาร้องเพลงให้ฟังแบบนี้แล้วละก็ คุณไม่ควรพลาดมิวสิควิดีโอ "Chromosome" ด้วยประการทั้งปวง
"Chromosome" เป็นผลงานการกำกับของ Josephine Coburn นักศึกษาปีหนึ่งของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คเลย์ Choromosome ได้รับรางวัลชมเชยจากการประกวดที่จัดขึ้นโดยทางมหาวิทยาลัย พล็อตมิวสิควิดีโอและทำนองเพลงเลียนแบบมาจากเพลง "Telephone" ของเลดี้กาก้า แต่แปลงเนื้อร้องให้เกี่ยวกับโครโมโซม, พันธุศาสตร์, วัฎจักรเซลล์, และเทคนิคพันธุวิศวกรรม
ที่มา - New Scientist
ชมมิวสิควิดีโอได้หลังเบรค (นางเอกมิวสิคน่ารักมาก)
หมายเหตุ ผมคิดว่าข้อเสียที่ไม่น่าให้อภัยของมิวสิควิดีโอนี้ คือ ทำไม Lady Gallium ไม่ใส่ชุดแบบเจ๊กาก้าาาาาาา | https://jusci.net/node/1549 | "Chromosome" ซิงเกิ้ลล่าสุดท้าชนเลดี้กาก้า |
Molybdenite (MoS2) เป็นสารกึ่งตัวนำชนิดหนึ่ง ที่พบมากในธรรมชาติ มันถูกใช้เป็นองค์ประกอบในการผลิตเหล็กอัลลอยส์ และสารหล่อลื่น แต่กลับไม่มีใครศึกษามันในด้านอิเล็กทรอนิกส์มากนัก จน Prof. Andras Kis, M. Radisavljevic, Prof. Radenovic และ M. Brivio ที่ทำงานในแล็ป LANES ของสถาบัน EPFL ได้ทำการศึกษามัน แล้วพบว่ามันเป็นสารกึ่งตัวนำที่ทรงประสิทธิภาพมากตัวนึงเลยทีเดียว
molybdenite เป็นวัตถุ 2 มิติ ซึ่งง่ายต่อการใช้ในงานนาโนเทคโนโลยี ต่างจากซิลิกอนที่เป็นวัตถุ 3 มิติ และ molybdenite ที่บาง 0.65 nm ยังให้อิเล็กตรอนเคลื่อนที่ได้ดีพอ ๆ กับซิลิกอนหนา 2 nm แต่เป็นการยากมากที่จะสร้างซิลิกอนที่บางเท่า ๆ กับ molybdenite
นอกจากนี้แล้ว หากนำไปสร้างเป็นทรานซิสเตอร์ มันจะใช้พลังงานในช่วง stand-by น้อยกว่าทรานซิสเตอร์ซิลิกอนถึง 1 แสนเท่า และใช้พลังงานเพียง 1.8 electron-volt ในการเปิดปิดวงจร*
และมันยังเหนือกว่ากราฟีนตรงที่ molybdenite มีช่องว่างที่เรียกว่า band gap ช่องว่างที่ว่านี้จะต้องไม่แคบ หรือกว้างจนเกินไป อิเล็กตรอจะกระโดดข้ามช่องว่างนี้ไปได้ มันเป็นสิ่งที่สารกึ่งตัวนำมีอยู่แล้ว แต่มันเป็นการยากที่จะสร้างช่องว่างนี้ให้กับกราฟีน
ที่มา: PhysOrg
*สารกึ่งตัวนำมีลักษณะพิเศษคือ มันเป็นได้ทั้ง ตัวท้านทาน และตัวนำไฟฟ้า ทรานซิสเตอร์สร้างขึ้นมาโดยใช้ความสามารถอันนี้ มันจึงสามารถควบคุมให้การไหลของอิเล็กตรอนได้ตามต้องการ | https://jusci.net/node/1550 | ทรานซิสเตอร์: กราฟีนหรือจะสู้ Molybdenite |
การวิจัยนี้นำโดยคุณ Sarah Coyne และ Laura Padilla-Walker แห่งมหาวิทยาลัย Brigham Young พวกเธอได้สำรวจครอบครัวที่มีลูกในช่วงวัยรุ่น 287 ครอบครัวเกี่ยวกับพฤติกรรมการเล่นเกม พบว่า เกมที่เด็กผู้หญิงชอบเล่นกันคือ Mario Kart, Mario Brothers, Wii Sports, Rock Band และ Guitar Hero ส่วนเด็กผู้ชายจะเล่น Call of Duty, Wii Sports และ Halo เป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ เด็กผู้หญิงจะใช้เวลาเล่นเกมน้อยกว่าเด็กผู้ชาย และเด็กผู้ชายมักชอบจะเล่นเกมกับเพื่อน ๆ มากกว่าพ่อแม่ แต่ถ้าลูกเล่นเกมกับพ่อแม่แล้วทั้งคู่จะใช้เวลาพอ ๆ กัน
ในด้านความสัมพันธ์ เด็กผู้หญิงจะมีความผูกพันธ์กับพ่อแม่มากขึ้น แต่ฝ่ายเด็กผู้ชายนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบว่า มีแม่ไม่กี่คนที่เล่นเกม ดังนั้นความสัมพันธ์นี้ดูเหมือนจะเป็นผูกพันธ์ระหว่างลูกสาวกับพ่อ หรือไม่ก็จะเป็นความรักในทำนองชู้สาว
ถ้ามองให้ดี ๆ ความสัมพันธ์นี้ไม่ได้แปลกอะไรเลย เพราะการที่เราใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันคนอื่น เราจะรู้สึกผูกพันธ์กับคนนั้นมากขึ้น การทำกิจกรรมที่ลูกสนใจร่วมกันจึงช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวได้เช่นกัน
ที่มา: PhysOrg | https://jusci.net/node/1551 | เกมดีต่อเด็กผู้หญิง ถ้าพ่อแม่เล่นด้วยกันกับเธอ |
กระทิงแดงอาจจะรู้จักในฐานะเครื่องดื่มชูกำลังสำหรับบ้านเรา และเครื่องดื่มของคนชอบเล่นกีฬาประเภทเสี่ยงภัยในต่างประเทศ แต่ผลวิจัยล่าสุดพบว่าแม้ไม่ต้องดื่มกระทิงแดงจริงๆ โลโก้กระทิงแดงเองก็มีผลในตัวของมันอยู่แล้ว
ทีมงานวิจัยจาก Carroll School of Management ทำการทดสอบด้วยการให้ผู้ทดสอบเล่นเกมขับรถที่ประดับด้วยลักษณะต่างกัน พบว่าผู้ร่วมทดสอบที่ขับรถที่ตกแต่งด้วยโลโก้กระทิงแดงมีลักษณะการขับขี่ที่ต่างจากผู้ขับขี่โดยทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยกลุ่มที่ขับรถประดับด้วยกระทิงแดงมักขับรถเร็วกว่าปรกติ และเลือกที่จะเสี่ยงจนหลายครั้งรถไถลและชนทำให้ผลคะแนนรวมของกลุ่มนี้มักจะมีผลดีมากเพราะขับเร็ว หรือแย่มากเพราะขับชน
งานวิจัยนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าแบรนด์ที่อยู่รอบๆ ตัวเรานั้นเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเราอยู่กลายๆ ใครจะรู้ว่าเราอาจจะเดินเร็วขึ้นเพราะใส่รองเท้าไนกี้, ชอบปีนป่ายมากขึ้นเพราะใส่เสื้อ Camel, หรือแอบจิกหัวลูกน้องเพราะใส่ Prada ก็เป็นได้
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1552 | โลโก้กระทิงแดงมีผลต่อความตื่นตัวและกล้าเสียง |
ฮอร์โมน Oxytocin ที่มีรายงานว่ามีผลต่อความรู้สึกรัก, เชื่อใจ, และมักส่งผลให้คนทำดีกับคนรอบข้างมากขึ้นอาจจะไม่ใช่ฮอร์โมนที่น่าจะปรารถนาอย่างที่เราคิดเมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติมว่าฮอร์โมนนี้อาจจะกระตุ้นผลตรงกันข้ามกับคนที่เราไม่ไว้ใจ
การศึกษาอาศัยอาสาสมัครที่มีอาการบุคลิกภาพแปรปรวน (borderline personality disorder) 14 คนและอาสาสมัครทั่วไปอีก 13 คนโดยแบ่งกลุ่มให้ฮอร์โมน Oxytocin ทางจมูกและอีกกลุ่มหนึ่งพ่นยาปลอม จากนั้นจึงเล่นเกมออนไลน์โดยหากเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะเล่นจนจบก็สามารถเล่นไปเรื่อยๆ โดยหากเล่นจบจะได้รับเงิน 6 ดอลลาร์แต่หากเชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามจะเล่นไม่จบก็สามารถหยุดเกมได้ทันทีโดยจะได้รับเงิน 4 ดอลลาร์
ผลทดสอบพบว่ากลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนนั้นมีความไว้ใจฝ่ายตรงข้ามมากกว่าฝ่ายที่ได้รับฮอร์โมนปลอมอย่างมีนัยสำคัญ ขณะกลุ่มผู้มีอาการบุคลิกภาพแปรปรวนนั้นกลับตรงกันข้ามคีือมีโอกาสออกจากเกมก่อนเกมจบมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
การทดลองที่สองแบ่งกลุ่มอาสาสมัครชาย 31 คนรับฮอร์โมนจริงและฮอร์โมนปลอม โดยก่อนและหลังได้รับฮอร์โมนจะได้รับแบบสอบถามถึงความสัมพันธ์กับทางบ้าน กลุ่มที่ความสัมพันธ์ดีอยู่แล้วเมื่อได้รับฮอร์โมนมักจะสามารถจำด้านดีๆ ของความสัมพันธ์ได้มากขึ้นหลังได้รับฮอร์โมน ขณะที่กลุ่มที่ความสัมพันธ์ไม่ดีนักเมื่อได้รับฮอร์โมนก็กลับจำด้านดีๆ ของความสัมพันธ์ได้น้อยลงไปอีก
เมื่อได้รู้ดังนี้แล้ว อย่าเผลอไปหาฮอร์โมนนี้ไปใส่ดอกไม้ให้สาวที่ไหน อาจจะได้ผลตรงข้ามไม่รู้ตัว
ที่มา - Science News | https://jusci.net/node/1553 | รักมาก, เกลียดแรง |
ถ้าพูดถึงไดโนเสาร์ที่ดังที่สุด ชื่อแรกๆ ที่เข้ามาในหัวคงไม่พ้น T. rex หรือ Tyrannosaurus rex ภาพของ T. rex ในหัวคนทั่วไปก็คือ "ไดโนเสาร์นักล่าผู้เป็นราชาทรราชย์แห่งยุค" (ก็ที่มาของชื่อมันเลย Tyranno = tyrant (ทรราชย์), saurus = กิ้งก่า, rex = ราชา) ด้วยขนาดความสูง 12 เมตร เขี้ยวเต็มปาก มันคงเป็นอะไรอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากเครื่องจักรสังหารขนาดมหึมา
แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนก็ไม่เชื่อว่า T. rex จะเป็นราชานักล่าแบบภาพที่เราเห็น ถ้าพิจารณาดูจากขาหน้าที่เล็กจู๋จนเกือบใช้การอะไรไม่ได้ ลูกตาขนาดกระจ้อยร่อย ขาหลังที่เดินแบบกระเผลกๆ เอาแค่ว่าการเลี้ยว 45 องศา นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เจ้า T. rex ยังต้องใช้เวลาถึง 2 วินาทีกว่าจะทำการเลี้ยวเสร็จ ลักษณะแบบนี้จะเป็นของสัตว์นักล่าได้อย่างไร
นักบุพชีววิทยา Jack Horner เคยฟันธงไว้เลยว่า "T. rex ต้องเป็นสัตว์กินซากแน่นอน 100%" อุปมาได้ว่าเป็นการลดเกรด T. rex จากเจ้าป่าไปเป็นหมาแทะกระดูกนั่นเอง
แต่นักวิทยาศาสตร์ฝ่ายที่อยากสร้างภาพให้ T. rex เป็นราชาต่อไป ก็แย้งว่าถึงตาไม่ดี T. rex ก็ยังมีจมูกขนาดใหญ่ไว้ดมกลิ่นได้ จมูกนักล่าชัดๆ, ตา T. rex ก็มองภาพแบบสเตอริโอด้วย ทำให้มันกะระยะทางได้ดี ตานักล่าเห็นๆ, ฟันของ T. rex ก็ทนทานต่อการกระแทกได้ดี ฟันนักล่าแท้ๆ แล้วอย่างนี้ T. rex จะไม่ใช่นักล่าจอมโหดได้อย่างไร! ก็เอากับเขาสิ
เถียงกันแบบนี้ อีกสิบปีก็คงไม่จบ ทีมวิจัยของ Chris Carbone แห่ง Zoological Society of London เลยหาวิธีพิสูจน์ใหม่โดยที่ไม่ต้องอิงกับลักษณะทางสัณฐานวิทยาของ T. rex เลย
พวกเขาดูจากระบบนิเวศของ T. rex ในสมัยนั้น เอารายชื่อชนิดและจำนวนประชากรไดโนเสาร์ทั้งหมดที่ใช้ชีวิตร่วมกับ T. rex มาคำนวณว่าถ้า T. rex เป็นสัตว์กินซาก ในวันหนึ่งๆ มันจะมีโอกาสหาซากสัตว์กินได้เท่าไร
สิ่งที่พวกเขาค้นพบสรุปได้ว่า ไดโนเสาร์ที่อยู่ร่วมกับ T. rex ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก ถ้า T. rex ดำรงชีวิตด้วยการอาศัยกินซากสัตว์ มันจะต้องอดตายในไม่ช้าแน่นอน ซากของพวกไดโนเสาร์ตัวจ้อยจะไปพอยาไส้ขนาดยักษ์ของ T. rex ได้อย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น กว่าที่ T. rex จะไปถึงซาก ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูงว่าพวกไดโนเสาร์กินซากตัวเล็กๆ คงจะซิวแทะเนื้อไปหมดแล้ว เหลือแต่กระดูกเกลี้ยงๆ ไว้ให้ T. rex เลียเล่น
ดังนั้นก็เป็นอันว่างานนี้ปิดประตูตอกฝากโลงความเชื่อ "T. rex เป็นสัตว์กินซาก" ไปได้เลย ไม่ว่าจะอย่างไร T. rex ก็คือราชานักล่า ฟันธง
ที่มา - DIscovery News | https://jusci.net/node/1554 | เราขอร้อง...หยุดหมิ่นทรราชย์ไดโนเสาร์เหอะ |
ระหว่างการก่อสร้างโรงพยาบาลในเมือง La Plata ประเทศอาร์เจนตินา นักวิจัยได้พบว่าชั้นดินที่ถูกขุดขึ้นมานั้นมีฟอสซิลของหมียักษ์อยู่ด้วย
หมีใหญ่ที่นักวิจัยเข้าไปเห็นในครั้งนี้ได้รับชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Arctotherium angustidens เป็นหมีอเมริกาใต้หน้าสั้น มีอายุอยู่ในช่วง 2 ล้านปีก่อนถึง 5 แสนปีก่อน จากความยาวกระดูกขาที่ขุดพบ นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าหากหมีตัวนี้หนักประมาณ 1,588-1749 กิโลกรัม และหากลุกขึ้นยืนสองขา มันก็น่าจะมีความสูงได้ถึง 3.3 เมตรทีเดียว! ทำให้เชื่อกันว่า A. angustidens คงเป็นหมีที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลกนี้ ในปัจจุบันเจ้าของสถิติสัตว์ตระกูลหมีที่ใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นของหมีขั้วโลกเพศผู้ซึ่งมีการบันทึกว่าหนักสูงสุดถึง 1,000 กิโลกรัม
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าที่หมี A. angustidens มีร่างกายใหญ่โตมหึมาขนาดนี้ได้เป็นเพราะตอนที่มันอพยพมานั้น ทวีปอเมริกายังไม่มีสัตว์นักล่ามาก ที่เด่นๆ ก็มีแต่แมวเขี้ยวดาบ (saber-toothed cat) พอไม่มีใครแย่ง หมีจึงมีเหยื่อให้กินได้อย่างเต็มที่ อีกอย่างหมีเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้งพืชและเนื้อ (omnivore) ดินแดนใหม่อย่างทวีปอเมริกาจึงเป็นสวรรค์บนดินสำหรับมันเลย กินเยอะๆ ก็โตไวๆ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีใครมั่นใจว่าหมียักษ์หาอาหารอย่างไร มันอาจจะล่าเหยื่อด้วยตัวเองหรือคอยแย่งกินซากสัตว์จากนักล่าอื่นๆ ที่มีขนาดเล็กกว่าก็ได้ (คล้ายๆ กับที่นักวิทยาศาสตร์เคยสงสัยกรณีของ T. rex)
ที่มา - Live Science | https://jusci.net/node/1555 | นักวิทยาศาสตร์เห็นหมีใหญ่แล้ว |
ทีมวิจัยของ David Hone แห่ง University College Dublin ประเทศไอร์แลนด์ ได้ค้นพบฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่คาดว่าขาหน้าแต่ละข้างมีเพียงนิ้วเดียว ถ้าไม่นับนกแล้ว นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์เจอหลักฐานฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่มีนิ้วเดียว
ไดโนเสาร์นิ้วเดียวที่ถูกค้นพบในครั้งนี้ได้ชื่อว่า Linhenykus monodactylus ซึ่งแปลตามตัวได้เป็น "กงเล็บแห่ง Linhe (Linhenykus) ที่มีนิ้วมืออันเดียว (monodactylus)" ผมคิดว่าเห็นชื่อก็คงเดาได้แล้วสินะ Linhe ในชื่อก็คือ เมือง Linhe ในเขตมองโกเลียชั้นใน สถานที่ที่มันถูกขุดพบเป็นครั้งแรกนั่นเอง
นักวิทยาศาสตร์คาดว่า Linhenykus monodactylus น่าจะมีชีวิตอยู่เมื่อ 84-75 ล้านปีที่แล้ว ความยาวลำตัววัดจากหัวถึงหางน่าจะประมาณ 40 ซม. หนักประมาณ 450 กรัม
Linhenykus monodactylus เป็นสัตว์กินเนื้อ สันนิษฐานกันว่ามันน่าจะใช้นิ้วมืออันเดียวของมันในการขุดดินเพื่อหาแมลงกิน โครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อแขนสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้เป็นอย่างดี การหดหายของนิ้วมือเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในไดโนเสาร์กลุ่ม theropod นอกจากไดโนเสาร์นิ้วเดียวในข่าวนี้แล้ว อีกตัวอย่างที่เห็นชัดสุดๆ ก็คงเป็น T. rex ที่มีนิ้วมือเหลือเพียงสองนิ้ว
ที่มา - Live Science, Science Daily | https://jusci.net/node/1556 | นักวิทยาศาสตร์เจอฟอสซิลไดโนเสาร์นิ้วเดียว |
U3-X เป็นชื่อนวัตกรรมพาหนะที่ฮอนด้าออกมาโชว์เมื่อปีที่แล้ว รูปร่างหน้าตาของมันคล้ายกับจักรยานล้อเดียวที่ไม่มีขาถีบ U3-X สามารถทรงตัวตั้งตรงและเคลื่อนที่ได้ด้วยเทคโนโลยี Omni Traction Drive System ของฮอนด้า อย่าลืมนะว่าฮอนด้าเป็นผู้สร้างหุ่นยนต์ ASIMO ดังนั้นเทคโนโลยีการทรงตัวอะไรแบบนี้ถือเป็นงานถนัดเขาเลยแหละ
U3-X หนักเพียง 22 ปอนด์ ผู้ขี่สามารถควบคุมทิศทางได้ด้วยการเอนตัวไปข้างหน้า-หลัง หรือแม้แต่การเอนตัวไปข้างๆ เพื่อให้ U3-X เคลื่อนที่ซ้าย-ขวาก็ทำได้ U3-X ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ชาร์จครั้งหนึ่งอยู่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ความเร็วสูงสุดที่ทำได้อยู่ที่ 3.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ความเร็วประมาณการเดินปกติ)
ดูวิดีโอสาธิตได้หลังเบรค แนะนำให้ดูเพราะเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของข่าวนี้ หน้าตา U3-X สวยมากกกก น่าซื้อมาเก็บไว้ใช้ที่บ้านจริงๆ เสียดายที่ตอนนี้ U3-X ยังเป็น prototype อยู่ กำหนดการวางขายหรือการเปิดตัวก็ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ
ที่มา - Discovery News | https://jusci.net/node/1557 | U3-X พาหนะล้อเดียวล้ำอนาคตจากฮอนด้า |
David Kennedy นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Western Australia นั่งดูภาพถ่ายดาวเทียมจากโปรแกรม Google Earth และค้นพบพื้นที่ที่อาจเป็นซากโบราณสถานจำนวน 1,977 แห่ง ในจำนวนนี้มี 1,082 แห่งที่น่าจะเป็นหลุมศพสร้างด้วยหิน เขาขอให้เพื่อนในซาอุดีอาระเบียไปตรวจสอบสถานที่จริงให้ และสามารถยืนยันสถานที่ได้ 2 แห่ง ซึ่งอาจมีอายุถึง 9,000 ปี
เขาไม่เคยไปเหยียบซาอุดีอาระเบียเลย
เขาบอกว่าภาพถ่ายทางอากาศของประเทศซาอุดีอาระเบียไม่เผยแพร่แก่คนทั่วไป และการเข้าไปสำรวจในประเทศก็ทำได้ยาก แต่เมื่อ Google Earth ใช้ภาพจากดาวเทียม SPOT 5 ที่มีความละเอียดระดับ 2.5 เมตร สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป
ช่วงหลังมีรายงานเรื่องการใช้ Google Earth ค้นพบสถานที่อีกเป็นจำนวนมาก เช่น การค้นพบซากเมืองในอัฟกานิสถาน เป็นต้น
ที่มา - New Scientist | https://jusci.net/node/1558 | ค้นพบซากเมืองในซาอุดีอาระเบีย ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth |
เรื่องการนับถือโหราศาสตร์, ดูฤกษ์ดูดวงนี่ ผมเดาว่าอินเดียเป็นชนชาติอันดับต้นๆ ของโลกแน่นอน ขนาดว่าการกำหนดวันเลือกตั้งยังต้องดูฤกษ์ดูยามกันเลย
Janhit Manch ซึ่งเป็น NGO ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศอินเดีย เห็นว่าประชาชนชาวอินเดีย "ไม่ได้รับความเป็นธรรม" จากพวกโหรและหมอดูกำมะลอที่ใช้วิชาโหราศาสตร์มาต้มตุ๋น หรือพวกที่ใช้มนต์ดำทำร้ายผู้คน พอผู้เสียหายจะไปฟ้องร้องเอาผิด ก็ดันไม่มีกฏหมายข้อใดรองรับซะอีก องค์กรนี้เลยยื่นเรื่องเสนอต่อศาลสูง ณ เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ให้นับรวมวิชา "โหราศาสตร์" เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อที่ว่าการให้ความเห็นต่างๆ ในทางโหราศาสตร์จะได้เข้าข่ายในกฏหมาย พรบ. ควบคุมยาและการรักษาทางการแพทย์ ค.ศ. 1954 ว่าด้วยการโฆษณา (Drugs and Medical Remedies Act (Objectionable Advertisements) Act, 1954) ซึ่งกำหนดบทลงโทษห้ามไม่ให้ใช้ข้อมูลอันเป็นเท็จในการโฆษณา
และก็ไม่รู้ไปตัดสินกันแบบไหน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ศาลได้มีมติตัดสินอนุโลมให้ "นับวิชาโหราศาสตร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาศาสตร์" ตามที่เสนอ แต่ในขณะเดียวกันก็ยกคำร้องโดยบอกว่า "พรบ. ไม่ครอบคลุมวิชาโหราศาสตร์"
ถึงจะงงๆ แต่เอาเป็นว่า ถ้าถือตามคำสั่งศาลอินเดีย หมอดูก็คือนักวิทยาศาสตร์แล้วนะครับ ต่อไป "ภาควิชาโหราศาสตร์และไสยศาสตร์" ก็คงได้เกิดเป็นตัวเป็นตนสักที ประเทศไทยคงมีเปิดนำร่องกันหลายมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียว
ที่มา - The Telegraph | https://jusci.net/node/1559 | ศาลอินเดียตัดสินนับ "โหราศาสตร์" เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งด้วย |
ปกติรอยนิ้วมือมักจะปรากฏเป็นหลักฐานอยู่บนวัสดุที่เรียบๆ ลื่นๆ พื้นผิวแบบเส้นใยผ้าคงเป็นที่สุดท้ายที่ตำรวจจะนึกถึง แต่ด้วยเทคนิคใหม่ทำให้เราสามารถตรวจรอยนิ้วมือได้จากผืนผ้าได้แล้ว
เทคนิคใหม่นี้มีชื่อว่า vacuum metal deposition (VMD) พัฒนาโดยความร่วมมือของตำรวจสก็อตแลนด์และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอะเบอร์ต้าดันดี (University of Abertay Dundee) หลักการคร่าวๆ ก็คือ เริ่มจากนำวัตถุที่เป็นผืนผ้าเข้าไปในโถสุญญากาศที่มีไอของทองคำระเหยอยู่ ไอของทองคำจะเคลือบเป็นแผ่นบางๆ บนผิ้วหน้าของผ้า จากนั้นก็เอาไปผ่านไอของสังกะสีในสุญญากาศอีกรอบ ไอสังกะสีจะจับกับแผ่นทองคำในจุดที่ไม่เคยถูกสัมผัสด้วยมือผู้ต้องสงสัย ทำให้เกิดเป็นภาพของรอยนิ้วมือปรากฏขึ้นมา ลักษณะภาพก็จะคล้ายๆ กับภาพเนกาทีฟบนฟิล์มถ่ายรูป
แม้ว่าวิธีนี้จะไม่ได้ผล 100% ทุกครั้ง จากการทดสอบ มีรอยนิ้วมือของผู้เข้าร่วมเพียง 20% เท่านั้นที่ "ดีพอ" ให้ตรวจจับบนพื้นผิวที่เป็นผ้าได้ แต่อย่างน้อยมันก็อาจจะมีประโยชน์ในหลายๆ คดี
ที่มา - Discovery News | https://jusci.net/node/1560 | ตรวจรอยนิ้วมือจากเสื้อผ้า |
เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2011 (ตามเวลาประเทศนิวซีแลนด์) วาฬนำร่อง (pilot whale) 80 ตัวได้พลัดเข้ามาเกยตื้นบนชายหาด Golden Bay ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของเมือง Nelson บนเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์
ตอนแรกนักกู้ภัยที่ลงพื้นที่กว่า 100 คน เห็นว่าคงไม่สามารถช่วยนำวาฬกลับลงสู่ทะเลได้ทันก่อนอาทิตย์ตกดิน พวกเขาเลยตั้งแคมป์พักอยู่ใกล้ๆ ชายหาดก่อน โดยหวังว่าตอนเช้าวันเสาร์ค่อยออกไปหาทางช่วยอีกรอบ
แต่เมื่อพวกเขาตื่นขึ้นมาในเช้ามืด พวกเขาก็พบว่าวาฬ 66 ตัวได้หายตัวไปพร้อมกับน้ำทะเลที่ขึ้นสูงในตอนเที่ยงคืนของคืนวันศุกร์ มี 14 ตัวที่ไม่สามารถกลับลงทะเลได้ทันและตายอยู่บนชายหาด
วาฬนำร่องเป็นวาฬที่พบได้มากที่สุดในท้องทะเลของนิวซีแลนด์ ตัวเต็มวัยมีความยาวลำตัวประมาณ 4-6 เมตร การเกยตื้นของวาฬในนิวซีแลนด์เป็นปรากฏการณ์ที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเรื่องปกติไปแล้ว เอาเฉพาะแค่เดือนที่แล้วก็มีวาฬนำร่อง 24 ตัวเกยตื้นตาย
ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบชะตากรรมของวาฬ 66 ตัวว่ามันว่ายน้ำหรือถูกน้ำพัดไปที่ไหนแล้ว ได้แต่หวังว่ามันจะไม่ไปเกยตื้นที่หาดไหนอีก
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1561 | วาฬนำร่อง 80 ตัวเกยตื้นที่นิวซีแลนด์ ตาย 14 |
ตลอดระยะเวลา 30,000 ปีที่ผ่านมา สมองของมนุษย์สมัยใหม่ (Homo sapiens sapiens) มีขนาดหดเล็กลงกว่า 10% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมากจนทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนตกใจ และพยายามหาคำอธิบาย
นักมานุษยวิทยาหลายท่านตั้งข้อสังเกตว่าสายพันธุ์ใกล้เคียงอย่างมนุษย์โครมันยองหรือมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลก็มีสมองใหญ่กว่ามนุษย์สมัยใหม่ทั้งนั้น ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่ามันต้องมีแรงทางวิวัฒนาการอะไรสักอย่างที่ทำให้สมองของเผ่าพันธุ์เราเล็กลง
ทีมวิจัยของ ศ. David Geary แห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี ได้ศึกษากะโหลกศีรษะของบรรพบุรุษมนุษย์ย้อนหลังนับตั้งแต่ 1.9 ล้านปีที่แล้วถึง 10,000 ปีที่แล้ว เขาสังเกตว่าเมื่อสังคมของมนุษย์ซับซ้อนขึ้น สมองของเราก็เล็กลง
ศ. David Geary ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของมนุษย์ทำให้สมองไม่ต้องรับภาระประมวลผลการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน แต่ละหน่วยในสังคมมีการแบ่งงานกันรับผิดชอบ เราจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งสมองขนาดใหญ่ที่เทอะทะอีกต่อไป สมองมนุษย์ที่ลดขนาดลงอาจจะมีการเชื่อมต่อวงจรใหม่ๆ ที่ทำให้เรามีโอกาสพัฒนา "ความฉลาด" ในอีกรูปแบบขึ้นมา เช่น ความรู้เฉพาะทาง หรือ วิทยาการและเทคโนโลยีแขนงต่างๆ
Brian Hare แห่ง Duke University เปรียบเทียบปรากฏการณ์เดียวกันนี้กับขนาดสมองของสุนัขฮัสกี้-หมาป่า และสมองของลิงชิมแปนซี-ลิงโบโนโบ
สมองของสุนัขฮัสกี้มีขนาดเล็กกว่าหมาป่า แต่ถ้ามองดูจากมุมมองของการสื่อสารกับมนุษย์แล้ว สุนัขฮัสกี้ฉลาดกว่าหมาป่าอย่างเห็นได้ชัด มันสามารถเข้าใจท่าทางและภาษาของมนุษย์ในระดับง่ายๆ ได้เหมือนกับเด็กเล็กๆ เลยทีเดียว
ลิงชิมแปนซีที่สมองใหญ่กว่าลิงโบโนโบก็ไม่ได้ฉลาดกว่าเสมอไป บ่อยครั้งที่ลิงชิมแปนซีจะทะเลาะวิวาทกันจนถึงตาย แต่ลิงโบโนโบมักจะจัดการกับความขัดแย้งภายในสังคมได้ดีกว่า มีน้อยครั้งมากที่จะจบลงด้วยความรุนแรงและการใช้กำลัง ถ้าดูในมุมนี้ลิงโบโนโบฉลาดกว่าลิงชิมแปนซีแน่นอน (อาจจะฉลาดกว่าพวก "มนุษย์" กระหายสงครามด้วย)
นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์อีกหลายท่านก็เชื่อว่าร่างกายที่หดเล็กลงของมนุษย์สมัยใหม่ก็น่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สมองขนาดใหญ่ไม่มีความจำเป็น เ้พราะยิ่งร่างกายแข็งแรงและใหญ่โตมากขึ้นเท่าไร เราก็จำเป็นต้องมีสมองส่วน gray matter เพื่อควบคุมกล้ามเนื้อและร่างกายมากขึ้นไปด้วย
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1562 | มนุษย์สมัยใหม่ฉลาดขึ้น สมองเล็กลง |
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2011 ที่ผ่านมา Solar Dynamics Observatory ของ NASA แสดงภาพดวงอาทิตย์สามมิติแบบที่หมุนรอบครบ 360๐ เป็นครั้งแรก
ภาพดวงอาทิตย์ทั้งดวงนี้ถ่ายโดยยานอวกาศแฝด STEREO (Solar TErrestrial RElations Observatory) ซึ่งทั้งคู่เพิ่งจะถูกส่งขึ้นไปโคจรรอบโลกเมื่อปี 2006 นี้เอง จุดประสงค์เพื่อสำรวจด้านของดวงอาทิตย์ที่หันหน้าออกจากโลก กำหนดระยะเวลาทำการของแฝดคู่นี้คือ 8 ปี
ภาพแรกที่มนุษยชาติได้เห็นดวงอาทิตย์แบบเต็มๆ อยู่หลังเบรคครับ
ที่มา - Science News
FULL SUN from Science News on Vimeo. | https://jusci.net/node/1563 | NASA โชว์ภาพดวงอาทิตย์สามมิติทั้งดวงครั้งแรก |
ฉลามวาฬ (Whale shark, Rhincodon typus) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จากที่เคยมีรายงาน ฉลามวาฬที่โตเต็มที่อาจมีความยาวได้ถึง 20 เมตร
แต่การวัดแบบเดิมๆ ที่ใช้สายวัดหรือการกะด้วยสายตานั้น ถึงอย่างไรมันก็ไม่แม่นยำ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์, Marine Megafauna Foundation และ CSIRO Marine and Atmospheric Research ได้พัฒนาเทคนิควิธีการวัดขนาดลำตัวปลาฉลามวาฬขึ้นมาใหม่ที่พวกเขามั่นใจว่าแม่นยำสุดๆ
เทคนิคใหม่นี้ง่ายแบบนึกไม่ถึงเลย ไม่ต้องพึ่งพลังควอนตัม พลังสเกลาร์ หรือมนต์ดำแต่อย่างใด นักวิจัยแค่เอาตัวชี้เลเซอร์ (laser pointer) 2 อัน ไปแปะขนาบข้างกล้อง ให้ระยะระหว่างตัวชี้เลเซอร์ทั้งสองห่างกัน 50 ซม. จากนั้นก็เล็งกล้องไปที่ฉลามวาฬให้จุดลำแสงเลเซอร์ทั้งสองตกอยู่บนลำตัวของปลา พอได้มุมเหมาะๆ ก็กดแชะถ่ายรูปแล้วเอารูปมาคำนวณความยาวได้เลยโดยอ้างอิงกับระยะ 50 ซม. ของจุดเลเซอร์ในภาพ
จากการวัดแบบใหม่นี้ พวกเขาพบว่าฉลามวาฬบางตัววัดได้ความยาวเพิ่มกว่าข้อมูลเดิมถึง 50 ซม. หรือกว่าครึ่งเมตรเลยทีเดียว
นอกจากนี้การใช้จุดเลเซอร์อ้างอิงยังช่วยในการจำแนกแยกแยะฉลามวาฬแต่ละตัวด้วย เนื่องจากตามปกติการจำแนกว่าฉลามวาฬตัวไหนเป็นตัวไหนจะดูจากลักษณะและการเรียงตัวของจุดข้างลำตัว พอมีจุดเลเซอร์ให้อ้างอิงตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถเปรียบเทียบแยกแยะจากรูปถ่ายได้ง่ายและแม่นยำขึ้น
เขียนข่าวนี้แล้ว ผมเกิดประกายความคิด อยากย้อนเวลากลับไปทำโครงงาน ม. ปลาย "วิธีวัดสัดส่วนผู้หญิงจากระยะไกล" ต่อให้ไม่ได้รางวัล ก็คงขายทำกำไรได้บ้างแหละ ^.^
ที่มา - BBC News | https://jusci.net/node/1564 | โห! ปลาฉลามวาฬใหญ่ได้อีก |
แต่เดิมนั้นการคิดต้นทุนพลังงานของพลังงานแสงอาทิตย์เทียบกับพลังานแบบอื่นๆ จะอาศัยสเปคจากผู้ผลิตว่าแผงโซลาร์นั้นสามารถผลิตพลังงานได้เท่าใหร่แล้วคูณด้วยอายุการใช้งานแล้วเอาไปหารค่าแผงโซลาร์ แต่ต้นทุนเช่นนี้ไม่ได้บ่งบอกถึงค่าซ่อมบำรุงที่ต้องมีในการใช้งานนานนับสิบปี นักวิจัยจึงเสนอทางคำนวณใหม่ชื่อว่า levelized cost of energy หรือ LCOE
LCOE สร้างจะโมเดลจำลองแบบ Monte Carlo มันอาศัยค่าพารามิเตอร์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการใช้งานโซลาร์เซลล์จำนวนมาก แล้วถ่วงด้วยความน่าจะเป็นในกรณีต่างๆ
ทีมวิจัยเชื่อว่า LCOE จะให้ข้อมูลผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ดีกว่าจะเลือกใช้พลังงานแบบใดต่อไป และมีต้นทุนที่แม่นยำขึ้น
การบริหารพลังงานทางเลือกอย่างผิดพลาดก็มีตัวอย่างอย่างในบ้านเราที่มีการสนับสนุนพลังงาน B5 กันจนเกินกำลังการผลิตปาล์มน้ำมันจนทำให้น้ำมันพืชขาดตลาดและมีราคาพุ่งสูงอย่างทุกวันนี้
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1565 | นักวิจัยเสนอแนวทางการคิดต้นทุนจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบใหม่ |
ตื่นเถิด...หนุ่มๆ ทั้งหลาย วันแห่งความรักกำลังจะมาถึงแล้ว ข่าวนี้ผมอุทิศให้กับ ตัวเอง ผู้ที่กำลังมองหาคู่ใจ มันคือเทคนิคให้การเพิ่มเสน่ห์แบบง่ายๆ ที่ได้รับการรับรองทางวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาได้วิจัยออกมาแล้วว่าทางที่ดีที่สุดในการให้ผู้หญิงชอบเรา คือ ต้องไม่ให้เธอจับทางได้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบเธอกันแน่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทดลองกับกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาปริญญาตรีผู้หญิง 47 คน ตั้งแต่เริ่มต้นกลุ่มตัวอย่างถูกหลอกว่ากำลังอยู่ในการทดลองเรื่องการนัดเดทบน Facebook และนักวิจัยได้เอาหน้า Facebook profile ของพวกเธอและของสาวอื่นอีกประมาณ 15-20 คนไปให้นักศึกษาชายจากมหาวิทยาลัยอื่นดู จากนั้นนักวิจัยก็จะเอา Facebook profile ของนักศึกษาชาย 4 คนมาให้กลุ่มตัวอย่างพิจารณา (อย่าได้อิจฉา 4 คนนี้ เพราะพวกเขาไม่มีตัวตน นักวิจัยแค่กุเรื่องสร้าง Facebook ปลอมๆ ขึ้นมา) โดยในขั้นนี้กลุ่มตัวอย่างนักศึกษาหญิงจะถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก นักวิจัยจะบอกว่านักศึกษาชาย 4 คนนี้ชอบเธอมากที่สุดและให้คะแนนเธอมากที่สุดในบรรดาสาวๆ ที่เขาได้ดู
กลุ่มที่สอง นักวิจัยจะบอกว่านักศึกษาชาย 4 คนนี้ให้คะแนนเธออยู่ในระดับค่าเฉลี่ยปานกลาง ไม่ได้คิดอะไรกับเธอเป็นพิเศษ
กลุ่มที่สาม นักวิจัยจะบอกแบบกึ่งๆ กลางๆ ว่านักศึกษาชาย 4 คนนี้อาจจะเป็นคนที่ให้คะแนนเธอสูงสุดหรือให้คะแนนเธอในระดับค่าเฉลี่ยก็ได้
เมื่อสอบถามความรู้สึกที่นักศึกษาหญิงแต่ละกลุ่มมีต่อนักศึกษาชายปลอมๆ ผลปรากฏว่า นักศึกษาหญิงรู้สึกว่าผู้ชายที่เธอไม่รู้ว่าเขาชอบหรือไม่ชอบเธอกันแน่ (กลุ่มที่สาม) น่าดึงดูดใจที่สุด รองลงมาคือผู้ชายที่เธอรู้ว่าหลงชอบเธอ (กลุ่มที่หนึ่ง) และสุดท้ายผู้ชายที่ผู้หญิงรู้สึกว่าน่าดึงดูดใจน้อยที่สุดคือผู้ชายที่เธอรู้ว่าไม่ได้สนใจอะไรเธอเป็นพิเศษ (กลุ่มที่สอง)
นักจิตวิทยาเชื่อว่าการที่ผู้หญิงไม่รู้ว่าฝ่ายชายคิดอย่างไรกับตนกันแน่ทำให้เธอต้องครุ่นคิดถึงความรู้สึกของเขา ยิ่งคิดถึงเขานานเท่าไร บ่อยเท่าไร ความรู้สึกว่าฝ่ายชายมีเสน่ห์ก็ยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
ผมอยากทดลองบ้างอะ มีใครแถวนี้ว่างมั้ย :)
ที่มา - PhysOrg | https://jusci.net/node/1566 | เทคนิคคาสโนวา: อย่าให้ผู้หญิงรู้ความรู้สึกเรา |
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oxford สามารถสร้างวัคซีนที่แก้หวัดได้ทุกชนิดทุกแบบ (universal flu vaccine)
เดิมทีวัคซีนแก้หวัดจะมีปัญหาว่าไวรัสหวัดกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ตัววัคซีนต้องปรับตามไปตลอด และการปรับวัคซีนก็มีค่าใช้จ่ายสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อค่าวัคซีนตามมา แต่วัคซีนตัวใหม่สร้างขึ้นโดยใช้หลักว่า จะจัดการกับโปรตีนที่พบในไวรัสหวัดทุกชนิด แทนการจัดการกับชิ้นส่วนภายนอกของไวรัสหวัดแบบวัคซีนตัวก่อนๆ
ถ้าวัคซีนตัวนี้ประสบความสำเร็จในการใช้งานจริง ก็จะช่วยหยุดโรคหวัดระบาดในอนาคตได้
ที่มา - Guardian | https://jusci.net/node/1567 | นักวิทยาศาสตร์สร้าง "วัคซีนแก้หวัดทุกชนิด" ได้แล้ว |
ไม่ใช่แค่การแหกปากร้องเพลงแบบ พี่ตูน บอดี้แสลม เท่านั้นที่จะทำลายเส้นเสียงของเรา การกระซิบก็อาจทำให้เส้นเสียงได้รับความเสียหายได้
ดร. Robert T. Sataloff แห่งวิทยาลัยการแพทย์ของ Drexel University ได้ทำการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 100 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างลองนับเลข 1-10 ทั้งนับแบบพูดธรรมดาและนับแบบกระซิบ ทีมนักวิจัยจะดูการเปลี่ยนแปลงของเส้นเสียงผ่านทางกล้องเส้นใยนำแสง (fiber-optic scope)
จากผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 69 จาก 100 คน ต้อง "เค้น" เส้นเสียงขณะที่พูดกระซิบซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียดขึ้นในเส้นเสียงและอาจทำให้เส้นเสียงเกิดความเจ็บปวดได้ อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่าง 18 คนไม่มีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะดังกล่าว และกลุ่มตัวอย่างอีก 13 คนที่เหลือดูเหมือนว่าจะมีเส้นเสียงที่พูดแบบกระซิบได้ง่ายกว่าพูดธรรมดาด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นหากใครที่มีปัญหาเรื่องเส้นเสียงก็จำไว้ว่า "อย่าพูดกระซิบ" คำแนะนำที่ดีที่สุดคือพูดแบบธรรมดาๆ อย่างที่พูดแล้วสบายที่สุดนั่นแหละ อย่าไปฝืน
ที่มา - New York Times | https://jusci.net/node/1568 | การกระซิบอาจทำร้ายเส้นเสียง |
Michael Crichton
Issac Asimov
Author C. Clarke
Jules Verne
Douglas Adams
Roald Dahl
Stephen King
H. G. Wells | https://jusci.net/node/1569 | นิยาย |
ในที่สุด ด้วยผลจากการปฏิวัติวงการนาโนเทคโนโลยี ต้นแบบนาโนโปรเซสเซอร์ก็ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ทีมวิศกรและนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาก๊าก เอ๊ย! ฮาวาร์ด และความร่วมมือของ MITRE คอร์ปออเปอร์เรชัน
นาโนโปรเซสเซอร์ถูกสร้างจา็กเส้นนาโน (nanowire) ออกแบบด้วยวงจรแบบล่างขึ้นบน(bottom-up)ด้วยการสร้างแบบนี้ทำให้ใช้ไฟเลี้ยงน้อยและมีขนาดเล็กมาก ด้วยทรานซิสเตอร์ในนาโนโปรเซสเซอร์เป็นแบบไม่ต้องอาศัยไฟเลี้ยง (nonvolatile) เพื่อรักษาหน่วยความจำซึ่งแตกต่างจากไมโครโปรเซสเซอร์ในปัจจุบัน
อีกไม่นานเราคงได้เห็นโลกแห่งนาโนเทคโนโลยีแบบที่ ริชาร์ด ไฟย์แมน ผู้ในกำเนิดนาโนตั้งใจไว้เมื่อ 50 ปีก่อน
ที่มา - ScienceDaily | https://jusci.net/node/1570 | คลอดแล้ว นาโนโปรเซสเซอร์ |
นักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียได้สาธิตสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ "หมวกอัจฉริยะ" (Thinking cap) ซึ่งอ้างว่าจะช่วยให้คนที่สวมใส่เร่งความคิดสร้างสรรค์ในสมองซีกขวาได้มากกว่าเดิม ทำให้เพิ่มความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์และศิลปะเลยขีดจำกัดของคนทั่วไป
ศ. Allan Snyder แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ผู้สร้าง "หมวกอัจฉริยะ" ได้พูดถึงงานวิจัยเบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า เมื่อทีมวิจัยของเขาได้เอาเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้าไปประกบข้างศีรษะของผู้ทดสอบและยิงคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปยังสมอง ผู้ทดสอบ 40% จากจำนวนกว่า 60 คนทำคะแนนในการทดสอบทางด้านคณิตศาสตร์และศิลปะได้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด ผู้ทดสอบบางคนได้คะแนนเพิ่มจากเดิมถึง 4 เท่า (จาก 2 เต็ม 20 เพิ่มมาเป็น 8 เต็ม 20)
ศ. Allan Snyder อ้างว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ยิงเข้าไปจะไปปิดการทำงานบางส่วนของสมองซีกซ้าย เมื่อสมองซีกซ้ายลดการทำงานลง สมองซีกขวาซึ่งเป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์เลยถูกกระตุ้นให้ทำงานได้มากขึ้น ศ. Allan Snyder ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของงานวิจัยนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุจนสมองซีกซ้ายกระทบกระเทือนหรือสูญเสียการทำงาน ผู้ป่วยบางคนดูเหมือนว่าจะมีความสามารถพิเศษเพิ่มขึ้นหลังจากได้รับอุบัติเหตุ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดสามารถอธิบายว่า "หมวกอัจฉริยะ" ทำงานได้อย่างไรกันแน่? คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเข้าไปปิดการทำงานของสมองส่วนไหน? และส่วนไหนที่ถูกกระตุ้นขึ้นมา?
เพราะฉะนั้น จนกว่าจะมีข้อพิสูจน์หรือหลักฐานมารองรับมากกว่านี้ ผมขอจัดหมวกอัจฉริยะใบนี้ให้อยู่ในหมวด "วิทยาศาสตร์น่าสงสัย" ไปก่อน แม้ว่ามันจะฟังแล้วน่าเชื่อมากกว่า ฟิวชันเย็น และ DNA เทเลพอร์ต ก็ตาม
ที่มา - CNET News, Google News (AFP)
ดูวิดีโอสาธิตการทดลองจาก ศ. Allan Snyderได้หลังเบรค
ศาสตราจารย์คนนี้ใส่หมวกได้แนวมากกกก | https://jusci.net/node/1571 | หมวกอัจฉริยะ: PMC สาขาใหม่ หรือ สิ่งประดิษฐ์พลิกโลก? |
ถ้าคิดว่าลูกข่างที่หมุนในสุญญากาศจะหมุนตลอดไปชั่วกาลปาวสาน คุณอาจจะคิดผิดก็ได้ เพราะนักฟิสิกส์บอกว่าวัตถุที่หมุนในสุญญากาศจะมีแรงเสียดทานฉุดให้มันหยุดหมุน ไม่ช้าก็เร็ว
Alejandro Manjavacas และ F. Javier García de Abajo แห่ง Spanish National Research Council เสนอทฤษฎีจากการคำนวณว่าวัตถุที่หมุนๆ อยู่ในสุญญากาศจะเจอโฟตอนพุ่งเข้าชนตลอดเวลา โฟตอนที่เข้าชนในทิศทางตรงกันข้ามกับการหมุนจะเกิดแรงปะทะมากกว่าโฟตอนที่ชนในทิศทางเดียวกับการหมุน ดังนั้นผลรวมของทั้งสองแรงก็จะทำให้เกิดแรงที่ฉุดให้วัตถุหมุนช้าลงๆ จนกระทั่งหยุดในที่สุด
เอ๊ะ ช้าก่อน แล้ว "โฟตอน" มาจากไหนหละ?
โฟตอนที่ทั้งสองพูดถึงเป็น "โฟตอนเสมือน" (virtual photon) ตามหลักความไม่แน่นนอนของทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม กล่าวคือ ในอวกาศที่เราคิดว่ามันว่างๆ มันไม่ได้ว่างอย่างที่เราคิด ความเป็นจริงมันจะมีโฟตอนเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าอายุของโฟตอนเสมือนเหล่านี้จะสั้นมากจนไม่สามารถตรวจวัดได้ แต่มันก็สามารถสร้างแรงทางแม่เหล็กไฟฟ้าบนวัตถุที่มันชนได้เหมือนโฟตอนปกติทุกประการ
แรงเสียดทานในสุญญากาศนี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดและชนิดของวัตถุ วัตถุที่มีขนาดใหญ่และไม่มีคุณสมบัติดูดซับพลังงานจากโฟตอนก็จะเกิดแรงเสียดทานตามทฤษฎีนี้น้อยมาก ขณะที่วัตถุเล็กๆ จะได้รับผลกระทบจากแรงนี้มากกว่า นอกจากนี้อุณหภูมิก็สำคัญด้วย เพราะยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไร โฟตอนเสมือนก็จะเกิดได้มากเท่านั้น จากการคำนวณ ก้อนแกรไฟต์ขนาด 100 นาโนเมตรจะใช้เวลา 10 ปีในการลดความเร็วลงเหลือ 1 ใน 3 ของความเร็วเดิมที่อุณหภูมิห้อง แต่ถ้าเพิ่มอุณหภูมิเป็น 700 ๐C ก็จะใช้เวลาเพียง 90 วัน หรือถ้าอยู่ในอวกาศบริเวณที่เย็นๆ ก็ต้องใช้เวลา 2.7 ล้านปี
ตอนนี้ทฤษฎีนี้ยังไม่มีผลการทดลองยืนยัน เพราะว่าขั้นตอนในทางปฏิบัติจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสุญญากาศและเทคโนโลยีเลเซอร์ขั้นสูงล้ำอลังการดาวล้านดวงที่ปัจจุบันยังไม่มี แต่คาดกันว่าอีกไม่นานเทคโนโลยีทั้งสองคงก้าวหน้ามากพอมาใช้สนองตัณหาของนักฟิสิกส์ได้
ที่มา - New Scientist | https://jusci.net/node/1572 | แรงเสียดทานในสุญญากาศ |
ทีมวิจัยที่นำโดย Claude Fauquet แห่ง Danforth Plant Science Center ในรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการตัดต่อพันธุกรรมมันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ที่มีโปรตีนมากถึง 12.5%
พวกเขาทำได้โดยการตัดต่อเอายีนของถั่วและข้าวโพดเข้าไปในมันสำปะหลัง ยีนตัวนี้จะทำหน้าที่แปลงไซยาไนด์ที่มันสำปะหลังสร้างเก็บไว้ให้กลายเป็นโปรตีนที่ชื่อว่า zeolin ปริมาณโปรตีนในมันสำปะหลัง GMO นี้มากพอปริมาณที่เด็กเล็กๆ ต้องการในแต่ละวัน
มันสำปะหลังเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตราคาถูกสำหรับประชากรยากจนในประเทศด้อยพัฒนา การเพิ่มปริมาณโปรตีนในมันสำปะหลังจะช่วยประชากรเป็นล้านๆ ในทวีปแอฟริกามีแหล่งอาหารที่ครบโภชนาการ นอกจากนี้ยังจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย
ตอนนี้ข้อเสียของมันสำปะหลัง GMO นี้ยังอยู่ที่ว่าโปรตีน zeolin สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ในอนาคตนักวิจัยหวังว่าจะหาทางใส่ยีนที่สร้างโปรตีนชนิดอื่นๆ เข้าไปอีกเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่มีอาการแพ้
ที่มา - New Scientist
ป.ล. งานวิจัยนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Bill and Melinda Gates Foundation (ผมบอกไว้เฉยๆ ไม่ได้มีนัยยะอะไร) | https://jusci.net/node/1573 | มันสำปะหลัง GMO เพิ่มโปรตีน |
งานนี้แอนตี้ไวรัสหรือไฟร์วอลล์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะข้อมูลที่ถูกขโมยไม่ไช่ข้อมูลที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ (ถ้าเป็นเรื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องลง Blognone สิเนอะ) แต่เป็นข้อมูลพันธุกรรม จารชนตัวร้ายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เรารู้จักคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี เพราะมันคือแบคทีเรีย Neisseria gonorrhoeae ซึ่งมีอาชีพหลัก คือ ทำให้เกิดโรคหนองใน (gonorrhea) ในมนุษย์ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะค้นพบว่าเจ้าแบคทีเรียหนองในนี้ยังมีอาชีพเสริมแอบขโมยชิ้นส่วน DNA ของมนุษย์อีกด้วย
หลักฐานคาหนังคาเขาชิ้นแรกมาจากห้องทดลองที่ Broad Institute ในเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ ประเทศสหรัฐอเมริกา นักวิจัยที่นั่นพบว่า 3 จาก 14 ของเชื้อ N. gonorrhoeae ที่เลี้ยงไว้มีชิ้นส่วน DNA อันหนึ่งที่มีลำดับเบสตรงกับลำดับเบสของ L1 DNA ของมนุษย์ ต่อมาอีกทีมวิจัยที่นำโดย Mark Anderson แห่ง Northwestern University ก็รายงานผลว่า N. gonorrhoeae ที่เพาะเลี้ยงไว้มากถึง 11% มีชิ้นส่วน DNA มนุษย์อยู่เช่นกัน
และเมื่อทีมวิจัยของ Northwestern University เอาเชื้อแบคทีเรีย Neisseria meningitidis (แบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบ meningitis) มาส่องดูบ้าง กลับไม่พบว่ามี DNA มนุษย์ปะปนอยู่แต่อย่างใด ดังนั้นพวกเขาจึงสรุปว่าแบคทีเรียหนองในคงจะผันตัวเองมาเป็นจารชนเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจาก N. gonorrhoeae กับ N. meningitidis มีความใกล้ชิดกันมาก เพิ่งจะแยกสายวิวัตฒนาการออกจากกันไม่นาน (ถ้าได้ยินนักชีววิทยาพูดคำว่า "ไม่นาน" ในเรื่องวิวัฒนาการ ขอให้เข้าใจตรงกันว่า เวลาหนึ่งพันปี หนึ่งหมื่นปี หรือหนึ่งแสนปี ก็ถือว่าไม่นาน)
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าชิ้นส่วน DNA ที่แบคทีเรียขโมยออกมาอาจจะช่วยให้แบคทีเรียสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้มากขึ้น ส่วนเรื่องที่ว่ามันจะช่วยได้จริงหรือไม่? และถ้าจริง มันทำได้อย่างไร? ตอนนี้ยังไม่มีใครรู้แน่ชัด ต้องรอการศึกษาต่อไป
หรือไม่แน่ มันอาจจะเอาข้อมูลของเราไปขายให้บริษัทส่ง spam mail ก็ได้ ใครจะไปรู้ ^.^
ที่มา - Science Daily | https://jusci.net/node/1574 | เรากำลังโดนแบคทีเรียขโมยข้อมูล |
แบคทีเรียรู้จักรีไซเคิล RNA ของตัวเองโดยการ แบ่งมันออกเป็นส่วน ๆ แล้วต่อขึ้นมาใหม่ การทำเช่นนี้ทำให้มันดื้อต่อยาปฏิชีวนะอยู่เรื่อย ๆ แต่จากการศึกษาแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ของกลุ่มนักวิจัยที่ทำโดยคุณพอล ดันแมน (Paul Dunman) แห่งมหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในเมืองนิวยอร์กได้พบว่า จะมียีนส์ตัวหนึ่งที่ทำงานมากกว่าปกติเมื่อแบคทีเรียรีไซเคิล RNA ถ้าหยุดยีนส์ RnpA ตัวนี้ได้ การรีไซเคิลก็จะหยุดลง
ถ้าแบคทีเรียไม่สามารถรีไซเคิล RNA ได้จะทำให้มันเสียพลังงานเปล่า เพราะสร้างโปรตีนที่ไม่มีประโยชน์ขึ้นมา นอกจากนี้อาจจะทำให้สร้างโปรตีนไม่ได้ เพราะไม่มีวัตถุดิบตามที่เขียนไว้ใน RNA การทำงานทั้งหมดของเซลล์จะหยุดลงทันที ดังนั้น ถ้าเราหาสารประกอบ หรือสารเคมีอะไรที่หยุดการทำงานนี้ได้ มันก็จะเป็นยาปฏิชีวนะได้เหมือนกัน
จาการตรวจสอบสารประกอบกว่า 30,000 ตัวพบว่า RNPA1000 สามารถที่จะทำลายเซลล์แบคทีเรีย S. aureus (MRSA) ที่ดื้อยาเมทิซิลลิน (Methicillin) ทั้ง 12 สายพันธุ์ได้ทั้งหมด รวมทั้งแบคทีเรียแกรมบวกที่ดื้อยา อย่าง Streptococcus pneumoniae, S. pyogenes และ Enterococcus faecium ที่ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมไปถึงโรคติดเชื้อที่หัวใจได้อีกด้วย
พวกเขาได้ลองใช้ RNPA1000 กับหนูที่ติดเชื้อ S. aureus พบว่าหนูที่ได้รับยาครึ่งหนึ่งสามารถหายจากการติดเชื้อ ในขณะหนูที่ไม่ได้รับยาทำไม่ได้ ส่วนในการทดลองกับเซลล์ของมนุษย์พบว่า หากได้รับ RNPA1000 มากเกินไปจะเป็นพิษต่อเซลล์ ดังนั้นพวกเขาต้องหาปริมาณที่เหมาะสมกันต่อไป
แม้ว่าแบคทีเรียจะสามารถดื้อต่อ RNPA1000 ได้เหมือนยาปฏิชีวนะทั่วไป โอกาสที่เป็นไปได้ (ในห้องทดลอง) นั้นน้อยมาก
นอกจากนี้เขายังแสดงให้เห็นว่า RNPA1000 นั้นสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะที่มีอยู่ในท้องตลาดได้อีกด้วย แม้พวกเขาจะไม่รู้ว่าทำได้อย่างไรก็ตาม
ที่มา: ScienceNOW | https://jusci.net/node/1575 | เล่นงานตรงจุดอ่อน ยาปฏิชีวนะแนวใหม่ |
เรื่องนี้เป็นงานวิจัยที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1999 โน่นแหนะ แต่ไหนๆ วันนี้ก็วันแห่งความรักทั้งที JuSci ควรจะมีเรื่องวิทยาศาสตร์ที่เข้าเทศกาลบ้างอะไรบ้าง
ทีมวิจัยที่นำโดยแพทย์ชาวเนเธอร์แลนด์ Pek van Andel ไม่รู้คิดอะไรขึ้นมาเกิดสนใจเรื่องกายภาพของมนุษย์ขณะร่วมเพศ พวกเขาจึงเปิดรับชาย-หญิงที่สมัครใจมาถ่ายวิดีโอขณะร่วมเพศกันด้วยเทคนิค MRI (Magentic resonance imaging)
ผมคิดว่าคงไม่ต้องบรรยายมาก (แค่นี้ผมก็กลัวโดนกระทรวงวัฒนธรรมเล่นงานแล้ว ประเทศนี้จริยธรรมสูงส่งกันมากกก... เรื่องนี้ลงตอน 5 ทุ่มคงไม่เป็นไร เด็กนอนหมดแล้ว ^.^') ดูคลิปวิดีโอตัวอย่างประกอบการทดลองได้ท้ายเบรค (ถ้าไม่อยากฟังเนื้อหาพร่ำเพ้ออะไรมาก ผมบอกให้ของดีอยู่นาที 1:39 เป็นต้นไป)
และถ้าใครอยากอ่านผลการทดลองแบบละเอียดก็ไปอ่านเต็มๆ ได้จาก British Medical Journal งานวิจัยนี้ได้รับรางวัล IgNobel ด้วยนะ
ที่มา - Youtube โดย Improbable Research
ป.ล. ผมคิดว่าผมได้ยินเสียงคล้ายเสียงครางในนาที 1:41 นะ ผมหูฝาดไปเปล่าเนี่ย? | https://jusci.net/node/1576 | คลิปโป๊ที่เปลือยที่สุดในโลก [18+][ฉ] |
ดร. Ricardo Dolmetsch และทีมงานจากมหาวิทยาลัย Stanford ประกาศความสำเร็จในการสร้างเซลล์หัวใจจากสเต็มเซลล์แบบ iPS (induced pluripotent stem cell)
ทีมงานแสดงความสำเร็จในการย้อนเซลล์ผิวหนังกลับไปอยู่ในสถานะ iPS แล้วกระตุ้นให้มันแปลงเป็น cardiomyocyte หรือเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ
ที่น่าสนใจมากคือเมื่อทีมงานทำกระบวนการนี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรค Timothy syndrome ซึ่งมีอาการหัวใจเต้นผิดปรกติ ก็จะได้เซลล์ cardiomyocyte ที่เต้นผิดปรกติด้วยเช่นกัน และเนื่องจากการใช้เซลล์ผิวหนังนั้นไม่เป็นอันตราย ทำให้นักวิจัยสามารถ "สำเนา" เซลล์หัวใจที่มีปัญหามาศึกษาภายนอกได้
ข่าวร้ายคืออาการหัวใจสลายในวันที่ 14 ที่ผ่านมานั้นไม่เกี่ยวกับพันธุกรรม ดังนั้นงานวิจัยนี้คงไม่มีผลดีอะไรกับเราๆ ท่านๆ ส่วนใหญ่
ที่มา - Stanford Scope Blog | https://jusci.net/node/1577 | Stanford สร้างเซลล์หัวใจจากเซลล์ผิวหนังสำเร็จ |
NAUTILUS-X ย่อมาจาก Non-Atmospheric Universal Transport Intended for Lengthy United States eXploration เป็นชื่อยานล่องสำรวจอวกาศเอนกประสงค์ หรือ Multi-Mission Space Exploration Vehicle (MMSEV) ที่ออกแบบโดย Mark Holderman และ Edward Henderson นักวิทยาศาสตร์จาก NASA Johnson Space Center
โดยคร่าวๆ NAUTILUS-X ถูกออกแบบมาให้รองรับการทำงานในภารกิจสำรวจอวกาศที่หลากหลาย ตัวยานสามารถเป็นที่อยู่อาศัยให้กับลูกเรือที่เป็นมนุษย์ได้สูงสุดถึง 6 คนพร้อมด้วยเสบียงและปัจจัยสำหรับระยะเวลา 2 ปี ใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนยาน มีโซลาร์เซลล์สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในยาน แต่ที่เด็ดที่สุดของ NAUTILUS-X คงเป็นวงแหวนกำเนิดแรงโน้มถ่วง (centrifuge ring) ซึ่งจะสร้างแรงโน้มถ่วงเทียม (partial gravity) ให้มนุษย์อยู่ในอวกาศได้เป็นเวลานานๆ โดยไม่เป็นง่อยไปเสียก่อน ถ้าทุกสิ่งเป็นไปด้วยดี วงแหวนกำเนิดแรงโน้มถ่วงจะได้รับการทดสอบติดตั้งกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เร็วๆ นี้
ด้วยโครงสร้างการออกแบบ NASA สามารถจะเอาส่วนประกอบอะไรมาใส่เพิ่มหรือจะเอาส่วนไหนออกจาก NAUTILUS-X ก็ได้ให้เหมาะกับสภาพงานของแต่ละภารกิจ เมื่อใช้งานเสร็จ NASA ก็ยังเก็บ NAUTILUS-X ไว้ใช้งานในคราวต่อไปได้อีก ซึ่งก็น่าจะคุ้มค่ากว่าการสร้างยานอวกาศมาลำหนึ่งแล้วใช้แค่ภารกิจเดียว
อย่างไรก็ตาม NAUTILUS-X ยังมีสภาพไม่ต่างอะไรไปจากจินตนาการเท่าไรนัก เพียงแต่เป็นการจินตนาการจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลังจากวางแผนการสร้างเรียบร้อย ก็ยังต้องใช้เวลาอย่างต่ำอีก 64 เดือนในการก่อสร้างและงบประมาณอีก 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ที่มา - Hobby Space via Popular Science
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับ NAUTILUS-X ได้จาก PowerPoint slides ของ Mark Holderman | https://jusci.net/node/1578 | NAUTILUS-X ตัวแบบยานล่องสำรวจอวกาศโดย NASA |